เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไขข้อสงสัย "ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไขข้อสงสัย "ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"

เปิดข้อสงสัย "เลือกตั้ง อบต." เช็คข้อมูลพื้นฐาน "ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" เตรียมพร้อมก่อนหย่อนบัตร อาทิตย์ 28 พ.ย.นี้

คืบหน้าอีกขั้นสำหรับการเปิดรับสมัคร เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตาบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ระหว่างวันที่ 10-15 ต.ค.64 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะตรวจสอบคุณสมบัติก่อนประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครวันที่ 22 ต.ค.64 และดำเนินการตามแผนจัดการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ ก่อนถึงวัน "เลือกตั้ง อบต." อาทิตย์ที่ 28 พ.ย.64 

ทั้งนี้ กกต.ได้เผยแพร่ข้อมูล "รอบรู้เลือกตั้ง อบต." ในลักษณะถาม-ตอบ เพื่อเป็น "ฐานข้อมูล" สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งเตรียมความพร้อมก่อนวันเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

• เขตเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนดไว้อย่างไร

-เขตเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล กำหนดไว้ 

1.เขตเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันเพื่อให้มีจำนวนราษฎรถึง 25 คน โดยนับจำนวนราษฎร ณ วันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

2.เขตเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ใช้เขตองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง

• คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนเท่าใด

-องค์การบริหารส่วนตำบล มีคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบล 3 คน

• ใครเป็นผู้มีหน้าที่ในการประกาศให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

-ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นผู้มีหน้าที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

อ่านข่าว : "หาเสียง" เลือกตั้ง อบต. ต้องรู้! ฝ่าฝืนโทษจำคุก-ปรับ เช็ครายละเอียดที่นี่

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไขข้อสงสัย \"ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง\"

• ใครเป็นผู้กำหนดหน่วยเลือกตั้ง และต้องกำหนดหน่วยเลือกตั้งเมื่อใด

-ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้ง โดยจะกำหนดก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้ง ให้ดำเนินการก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน เว้นแต่เกิด จลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น อาจดำเนินการน้อยกว่า 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้งก็ได้

• เมื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น จะต้องกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งอย่างไร

-วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ต้องประกาศให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 10 วัน นับแต่วันประกาศให้มีการเลือกตั้ง และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน

• กฎหมายกำหนดองค์ประกอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไว้อย่างไรบ้าง

-สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.อบต. โดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ละท1 คน หาก อบต. ใดมีเขตเลือกตั้ง ไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง ให้สภา อบต.นั้น ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 6 คน โดย

ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง : ให้มี ส.อบต. 6 คน

ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง : ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน

ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง : ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน

ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง : ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรกเขตเลือกตั้งละ 1 คน

ถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง : ให้มี ส.อบต. ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

• ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

-หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการเลือกตั้ง เป็นผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไขข้อสงสัย \"ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง\"

• ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

1.มีสัญชาติไทย ถ้าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2.มีอายุ 18 ปี ในวันเลือกตั้ง

3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

บุคคลใดบ้างที่กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

1.ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

2.อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะสิ้นสุดแล้วหรือไม่

3.ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

4.วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ

• ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้จะต้องดำเนินการอย่างไร

-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนาย ทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตท้องที่ด้วยตนเองหรือทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยต้องแจ้งเหตุดังกล่าวภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

• หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือได้แจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควรจะถูกจำกัดสิทธิอย่างไร

-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

1.สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. และ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.

2.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3.เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ก.

4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5.ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6.ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น 

• หากพบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีชื่อตนเอง หรือพบว่ามีชื่อผู้อื่นซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้าน ต้องดำเนินการอย่างไร

-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านสามารถแจ้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทำเป็นหนังสือก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน เพื่อให้เพิ่มชื่อหรือถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง

• ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้ถอนชื่อ บุคคลใดออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง บุคคลดังกล่าวมีสิทธิดำเนินการอย่างไร

-มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ต่อศาลอุธรณ์หรือศาลอุธรณ์ภาคที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลอุธรณ์หรือศาลอุธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด

• หากผู้สมัครรับเลือกตั้งประสงค์จะส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์ ณ ที่เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างไร

-ต้องยื่นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนของตนต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 7 วันโดยแต่งตั้งได้แห่งละ 1 คน

• กกต.กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการสังเกตการณ์ของตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งประจำที่เลือกตั้งไว้อย่างไร

-ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งที่สามารถมองเห็นการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานประจำหน่วยเลือกตั้งได้ โดยห้ามมิให้กระทำหรือกล่าวโต้ตอบกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือระหว่างกันเอง และต้องปฏิบัติตนตามที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแจ้งให้ปฏิบัติ หากตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งเห็นว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ให้ทักท้วงตามแบบทักท้วง และวิธีการทักท้วงที่ กกต.กำหนด

• ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งกำหนดไว้อย่างไร

-กรณีการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากการครบวาระให้คำนวณค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 180 วัน ก่อนครบวาระจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ตำแหน่งว่างลงจนถึงวันเลือกตั้ง

• หาก กกต.สั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครจะหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่

-ผู้สมัครหรือผู้ใดจะหาเสียงไม่ได้ เว้นแต่ กกต. จะมีมติเป็นอย่างอื่น โดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม

• ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะจัดให้มีผู้ช่วยในการหาเสียงได้หรือไม่

-ผู้สมัครสามารถจัดให้มีผู้ช่วยหาเสียงได้ โดยต้องแจ้งจำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่ และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

• ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงได้อย่างไรบ้าง

-ผู้สมัครจะติดประกาศหรือแผ่นป้ายได้เฉพาะในสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น รวมทั้งป้ายประกาศหรือป้ายหาเสียงจะต้องมีขนาดและจำนวนที่ กกต.กำหนด

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไขข้อสงสัย \"ผู้สมัคร-ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง\"