เวลคัม ทู "ไทยแลนด์" ส่งสัญญาณทั่วโลก

เวลคัม ทู "ไทยแลนด์" ส่งสัญญาณทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายให้ไทย "เปิดประเทศ" รับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ในวันที่ 1 พ.ย. 64 แต่ปัญหาที่คาใจหลายคนคือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรนั้นยังห่างไกล จึงต้องจับตามาตรการความชัดเจนภายหลังการประชุม ศบค. ในวันที่ 14 ต.ค.นี้

การแถลงข่าว “เปิดประเทศ” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกจับตาจากทุกวงการ เกิดคำถามมากมาย เหมาะสมและถึงเวลาแล้วหรือยัง โอกาสประสบความสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน

หากดูเฉพาะภาคธุรกิจเศรษฐกิจ พบปฏิกิริยาในเชิงบวก ตลาดหุ้นเด้งรับ การลงทุนตอบรับว่าจะขยับ ส่อแววว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักได้ช่วงปลายปี

ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2563 นับเวลาร่วม 22 เดือน ส่วนในต่างประเทศดับเบิลยูเอชโอประกาศยกระดับเป็นแพนเดมิคเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 

แม้วันนี้ตัวเลขโควิด-19 รายวันจะยังไม่นิ่ง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,445 ราย เสียชีวิต 84 ราย ทว่าการที่ผู้ป่วยใหม่หลักหมื่น แต่ยอดผู้เสียชีวิตเริ่มไม่ถึง 100 ราย ถ้าสัดส่วนนี้มีความต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคน่าจะหมดไปในเร็ววัน

นำไปสู่การปรับเปลี่ยนโหมดระบาดใหญ่ (แพนเดมิค) เป็นโรคประจำถิ่น (เอ็นเดมิค) ในเวลาไม่นาน การแพร่ระบาดใหญ่ที่กินเวลาเกือบ 2 ปีกำลังหมดลง

การที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายประเทศไทยเปิดรับการเดินทางของต่างชาติได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันอยู่ที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากร ซึ่งยังห่างไกล

รัฐบาลตั้งเป้าครบ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2564 แต่วันนี้เข็ม 2 ได้เพียง 33% เท่ากับว่ารัฐบาลประกาศเปิดประเทศล่วงหน้า โดยไม่รอให้ฉีดวัคซีนครอบคลุม นับเป็นการ “ชิงธง” การเป็นประเทศแถวหน้าในเวทีโลก และเป็นการส่งสัญญาณ “เชิงรุก”

หากรัฐบาลไม่มีอินไซด์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายในเร็วๆ นี้ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถือว่ากล้าหาญลุยไฟ 

เราเห็นว่า ในระยะใกล้ให้จับตามาตรการความชัดเจนภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ จะพอเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ว่านโยบายจะสำเร็จหรือล้มเหลว เชื่อว่าที่ประชุมต้องปรับแผนดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีให้มากที่สุด

 

กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค. ปรับปรุงโซนโดยลดพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และเพิ่มโซนสีส้มแทน ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละเขตที่เปลี่ยนไป เสนอยกระดับมาตรการและผ่อนคลายกิจกรรมกิจการให้สอดคล้องแผนสนับสนุนเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

การเปิดประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น นำร่องเฉพาะประเทศเสี่ยงต่ำก่อน ทว่านายกรัฐมนตรีสั่งการชัดว่าต้องมีอังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา หลังจากนั้นไปเพิ่มจำนวนประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 ธ.ค. และวันที่ 1 ม.ค. ตามลำดับ 

เป็นการส่งสัญญาณให้นานาชาติได้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้ยุทธการ “เวลคัม ทู ไทยแลนด์” ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม

แม้ว่าวันข้างหน้ายังไม่มีใครบอกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อย่างน้อย ดีกว่าปล่อยให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะคู่แข่งในอาเซียนขยับก่อน  เพราะนั่นเท่ากับว่านั่งรอให้โควิดหายไปจากโลกนี้