"ส.ส.ก้าวไกล" มอง "นายกฯ" ลังเล หลังชะลอ ทูลเกล้าฯ ร่างแก้รธน.

"ส.ส.ก้าวไกล" มอง "นายกฯ" ลังเล หลังชะลอ ทูลเกล้าฯ ร่างแก้รธน.

"ธีรัจชัย" ประเมิน "ประยุทธ์" ออกอาการลังเล กลัวเสียอำนาจ หลัง ไม่ทูลเกล้าฯ ร่างแก้รธน. หลังพ้นกำหนด 5 วัน พร้อมย้ำจุดยืนก้าวไกล หนุนร่างแก้ไขรธน.ฉบับประชาชน เชื่อเปิดสมัยประชุม พ.ย.นี้ บรรจุพิจารณาทันที

         นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะอดีตกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... รัฐสภา กล่าวต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังไม่นำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่รัฐสภาเห็นชอบ ขึ้นทูลเกล้าฯ หลังครบกำหนด 5 วันที่ได้รับเนื้อหาจากประธานรัฐสภา ว่า  กรณีดังกล่าวตนมองได้ 2 กรณี คือ 1. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความไม่สมบูรณ์​แก้ไขเนื้อหาเกินหลักการจากเดิมที่รัฐสภารับหลักการแก้ไข เพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 แต่การแก้ไขในชั้นกรรมาธิการพบว่าได้แก้ไขเพิ่มอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 86 และบทเฉพาะกาล และ 2. จากปัจจัยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ทำให้แบ่งอำนาจเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์ และ ขั้วของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ก่อนหน้านี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ เมื่อพรรคไม่มีเอกภาพทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ลังเลต่อระบบเลือกตั้งที่ถูกแก้ไข และอาจเปลี่ยนใจ

 

         “ตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เวลานายกรัฐมนตรี นำเรื่องทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อให้มีเวลาคิด แต่กรณีนี้หากไม่ทำ ถือว่านายกรัฐมนตรีละเว้นหรือไม่ปฏิบัติการทำหน้าที่โดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายกรัฐมนตรีต้องชี้แจงเหตุผล เพราะเป็นหน้าที่ แต่หากไม่ทำ เพราะต้องการดึงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จะมีโทษทางอาญา เพราะเรื่องการปฏิบัติหน้าที่จะละเว้นไม่ได้” นายธีรัจชัย  กล่าว

 

         นายธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า ระบบเลือกตั้งก่อนถูกแก้ไข พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์จากระบบคู่ขนานที่กำหนดไว้ เห็นได้จากการเลือกตั้งซ่อมที่ชนะในหลายเขต แต่เมื่อรอบนี้ความสามัคคีภายในพรรคไม่มี สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ หลังจากแก้กติกา อาจจะทำให้เกิดความลังเลและขอเปลี่ยนใจ เพราะไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้ง ไม่สามารถบริหารจัดการอำนาจของตนเองได้


 

         เมื่อถามถึงการสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น นายธีรัจชัย กล่าวว่า ส.ส.ของพรรคหลายคนร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย ดังนั้นพรรคมีจุดยืนสนับสนุน เพราะมองว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นประประชาธิปไตย และเพื่อประโยชน์ประชาชน ดังนั้นตนคาดว่าหลังจากการเปิดสมัยประชุมเดือนพฤศจิกายน นี้ หากเรื่องเข้าสู่วาระแล้ว ต้องจัดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระแรก ส่วนตัวไม่กังวลว่าจะซ้ำรอยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพราะประเด็นดังกล่าวได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขกติกาของบ้านเมือง