ปักหมุด เอาตัวคนบงการ 6 ตุลา ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

ปักหมุด เอาตัวคนบงการ 6 ตุลา ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทนายฤษฎางค์ นุตจรัส ประกาศ ปักหมุด เอาตัวคนบงการ 6 ตุลา 2519 ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ยืนยัน ทำได้ ไม่มีหมดอายุความ

วันที่ 6 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรมรำลึก 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นกล่าวปาฐกถาว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่มีการดำเนินการเอาผิดฆาตกรที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 มาลงโทษแต่อย่างใด เหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านมา 45 ปี ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจของกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนั้น ที่ต้องการกวาดล้าง ฆ่าฟันสังหารหมู่นักศึกษาที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นความจงใจและตั้งใจ

นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า เราเรียกร้องให้นำตัวคนผิดมาลงโทษ หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุการณ์ผ่านไปแล้วตั้ง 45 ปี เหตุใดต้องเอาคนผิดมาลงโทษ คนผิดบางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว มีประโยชน์อันใดที่จะพูดถึงมัน

ทั้งนี้เพราะ 1.นิสิตนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังไม่ได้รับการขอโทษใดๆจากรัฐหรือผู้บงการ ยังไม่ได้รับการชดใช้ทั้งเกียรติภูมิและเรื่องอื่นๆ 2.การสังหารหมู่ดังกล่าว ถูกตัดสินด้วยสายตาทั่วโลกว่าเป็นอาชญากรรมทางการเมือง ที่ผู้ก่ออาชญากรรมต้องได้รับการลงโทษ 3.การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่จะไม่ให้ลูกหลานของพวกเราถูกกระทำโดยความอยุติธรรมอีกต่อไป

ดังนั้น เราได้ร่วมกับภาคีนักกฏหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อที่จะนำตัวคนผิดมาลงโทษ แม้ตายไปแล้วก็จะถูกจารึกไว้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด

นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า เราจะนำตัวผู้บงการในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถทำได้อย่างแน่นอน ประเทศไทยได้เคยร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงโรมปี 2541 ที่นานาชาติกว่า 160 ประเทศจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์การนำตัวคนผิดมาลงโทษ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ทางการเมือง ซึ่งดูแล้วว่ากรณีเหตุการณ์ 6 ตุลานั้น ตรงตามธรรมนูญของศาลอาญาระหว่างประเทศ

เขา กล่าวว่า คดีนี้ไม่มีอายุความตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้น เหตุการณ์แม้ 45 ปีที่แล้วก็จะสามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้อย่างแน่นอน แม้ไทยจะไม่เคยให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาดังกล่าว ถึงจะเป็นภาคีก็ตาม อย่างไรก็ดี มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนวิธีคิดนี้ อย่างทรราชหรือนักการเมืองหลายประเทศ ซึ่งถูกออกหมายจับบ้าง ถูกจับบ้าง ทั้งที่รัฐของพวกเขาไม่ได้เป็นภาคีหรือให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาดังกล่าว