เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ช่องทางจับทุจริต "เลือกตั้ง อบต."

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ช่องทางจับทุจริต "เลือกตั้ง อบต."

ช่องทางการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ต่อการตรวจสอบ "เลือกตั้งท้องถิ่น" พร้อมตาราง "เงินรางวัล" แจ้งเบาะแสนำจับไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

เหลือเวลาอีก 61 วัน จะถึงวันหย่อนบัตร เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่งทั่วประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.2564 เป็นการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ลำดับที่ 3 ต่อจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เมื่อ 20 ธ.ค.2563 และเลือกตั้งเทศบาล เมื่อ 28 มี.ค.2564 

ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมผู้บริหาร และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกทม.เตรียมความพร้อมปฏิทินจัดเลือกตั้ง อบต. ซึ่งจะเริ่มวันสมัครเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.64

นอกจากนี้ กกต.ได้ออกแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" เป็นช่องทางแจ้งพบเห็นการทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และเป็นช่องทางรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งในรูปแบบข้อความ ภาพ เสียง หรือวีดีโอ 

สำหรับวิธีใช้แอพพลิเคชั่นตาสับปะรด "กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวม มีดังนี้

1.เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด จะพบช่องให้ "เข้าสู่ระบบ" และ "ลงทะเบียน" โดยให้เริ่มต้นใช้งานที่ช่อง "ลงทะเบียน" 

2.เมื่อกดช่อง "ลงทะเบียน" จะเข้ามาที่หน้าข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งานให้กด "ยินยอม" หากไม่เห็นด้วยให้กด "ไม่ยินยอม"

3.หากกด "ยินยอม" เพื่อใช้งานจะมีช่องให้กรอกข้อมูลผู้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ใหม่ โดยเป็นข้อมูลเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และชื่อที่ใช้เป็นบัญชีผู้ใช้งานและการกำหนดรหัสเข้าใช้งาน 

4.ระบบจะแจ้งหมายเลข OTP ใน SMS เพื่อให้ใส่ตัวเลข 4 หลักเพื่อยืนยันตัวตน

5.นำบัญชีผู้ใช้กรอกในช่องเริ่มต้นการใช้งาน เมื่อกรอกบัญชีเสร็จสิ้นจะเช้ามาที่หน้าหัวข้อความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่างๆ ให้กดช่อง "รายงานทุจริต" 

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

จากนั้นจะเป็นข้อตกลงการใช้บริการรายงานการทุจริตเลือกตั้ง ที่ กกต.กำหนดไว้มีดังนี้ 

1.ผู้ใช้งานต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น และไม่แจ้งข้อมูลที่มีลักษณะกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ใส่ความ หรืออื่นใดที่มีลักษณะเช่นว่ามาแล้ว

2.ผู้ใช้งานจะต้องดำเนินการใดๆ ที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายอื่น

3.ผู้ใช้งานจะต้องแจ้งเหตุการณ์การทุจริตเลือกตั้ง 1 ครั้ง ต่อ 1 เรื่องเท่านั้น

4.การแจ้งรายงานทุกครั้ง ผู้ใช้งานควรจะส่งรูปมาด้วยทุกครั้ง

5.เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กรุณาบันทึกข้อมูลรายละเอียดให้ถูกต้อง ครบถ้วน และชัดเจน

6.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอสงวนสิทธิในการดำเนินการยุติเรื่องกับรายงานที่มีข้อมูลลักษณะเป็นเท็จ กลั่นแกล้ง ใส่ร้ายใส่ความ หรืออื่นใดที่มีลักษณะเช่นฉ่ำมาแล้ว รวมทั้งรายงานที่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายอื่น

โดยเฉพาะกติกาที่กำหนดไว้ชัดว่าผู้แจ้งที่ส่งข้อมูลแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ จึงควรตรวจสอบก่อนที่จะกดปุ่ม "ส่งข้อมูล"

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

มาถึงขั้นตอนสำคัญของแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ผู้แจ้งข้อมูลการทุจริตเลือกตั้งต้องระบุข้อมูล ดังนี้

1.จังหวัด ที่เกิดเหตุ

2.วัน/เวลา ที่เกิดเหตุ

3.สถานที่เกิดเหตุ ให้กรอกข้อมูล แขวง หรือ ตำบล/เขต หรืออำเภอ เขตเลือกตั้ง / หน่วยเลือกตั้งที่ทราบ

4.รายละเอียดการกระทำผิด ให้กรอกรายละเอียดการกระทำผิด เช่น เป็นใคร มีพฤติกรรม อย่างไร ยานพาหนะที่ใช้ ยี่ห้อ สีรถ

5.อัพโหลดหลักฐานประกอบ ตั้งแต่ ไฟล์ภาพ บันทึกเสียง และเลือกไฟล์วีดีโอ 

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

จากนั้น "กกต." จะไปดำเนินการสอบสวนตามหลักฐานและข้อเท็จจริงในสำนวนการร้องเรียนทั้งหมด แต่สำหรับ "ผู้แจ้งเบาะแส" นั้นหากการสอบสวนนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด สามารถรับเงินรางวัลกรณี "กกต." มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดย กกต.จะปกปิดชื่อผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ

ทั้งนี้ ในเงินรางวัลดังกล่าวถูกกำหนดไว้ที่ "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562" โดยมี "บัญชีอัตราการให้รางวัล" ในหมวด "กฎหมายว่าด้วยการเลือกต้ังสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น" แบ่งเป็นดังนี้

1.กรณี กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 2.5 หมื่นบาทไม่เกิน 1 แสนบาท 

2.กรณี กกต.ระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 2.5 หมื่นบาทไม่เกิน 2 แสนบาท

3.กรณี ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 2.5 หมื่นบาทไม่เกิน 4 แสนบาท 

4.กรณี ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ได้เงินรางวัลตั้งแต่ 2.5 หมื่นบาทไม่เกิน 5 แสนบาท 

ทั้งหมดเป็นช่องทางเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อการตรวจสอบการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการออกเสียงประชาธิปไตย เพื่อเลือกผู้ที่มีความซื่อสัตย์เข้ามาบริหารท้องถิ่นให้โปร่งใสมากที่สุด.

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

เปิดคู่มือแอพพลิเคชั่น \"ตาสับปะรด\" ช่องทางจับทุจริต \"เลือกตั้ง อบต.\"

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด ระบบ Andriod และ ระบบ iOS