ย้อนเหตุ 10 ปี น้ำท่วมใหญ่ "มหาอุทกภัย” เสียหาย 1.4 ล้านล้าน หรือ ปี 64 จะซ้ำรอย?

ย้อนเหตุ 10 ปี น้ำท่วมใหญ่ "มหาอุทกภัย” เสียหาย 1.4 ล้านล้าน หรือ ปี 64 จะซ้ำรอย?

จากเหตุ "น้ำท่วมใหญ่" ระดับ “มหาอุทกภัย” ในประเทศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน สภาพจิตใจประชาชน รวมไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนัก กระทบเป็นลูกโซ่ไปอีกหลายปี ส่วน "น้ำท่วมใหญ่ ปี 2564" จะเสียหายเท่าไหร่ คงต้องรอดู

เหตุการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่กำลังเกิดขึ้นในไทยขณะนี้ กำลังสร้างความเสียหายอย่างหนัก ซ้ำเติมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระหว่างวันที่ 23-28 ก.ย. 2564 ระบุว่า

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 30 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

รวม 145 อำเภอ 584 ตำบล 2,401 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 71,093 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย สูญหาย 2 ราย

จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร และ สุรินทร์ และยังคงมีสถานการณ์ 23 จังหวัด

ขณะเดียวกัน ปภ. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นั่ง “หัวโต๊ะ” และ “บิ๊กฉิ่ง” นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้บัญชาการฯ มีการแจ้งเตือนทุกเช้าของทุกวันถึงสถานการณ์ “น้ำท่วม” พร้อมกับพื้นที่เฝ้าระวังในจังหวัดต่าง ๆ แบบ “นาทีต่อนาที” เลยทีเดียว

เรียกได้ว่าสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ เป็นครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ไทยเคยประสบมา ส่วนตัวเลขความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจของไทยจะกระทบขนาดไหน ยังไม่มีการประเมินตัวเลขอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาประเทศไทย เคยผ่านเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” มาแล้วหลายครั้ง ย้อนกลับไปครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2554 เกิดมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลบ่ามาจากภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในทุกภาคของประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

สำหรับพื้นที่ประสบภัยพิบัติดังกล่าว ระหว่างเดือน ก.ค. 2554 จนถึงสถานการณ์คลี่คลายในเดือน พ.ย. 2554 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้งสิ้น 77 จังหวัด (ทั้งประเทศ) 87 อำเภอ 6,670 ตำบล

มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 657 ราย สูญหาย 3 ราย มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน เป็นรายหัว 13,425,869 ราย บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง

ส่วนพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายอย่างหนักกว่า 11.20 ล้านไร่ บ่อปลา บ่อกุ้ง บ่อหอย 231,919 ไร่ ฟาร์มปศุสัตว์เสียหาย 13.41 ล้านตัว ส่วนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนนเสียหาย 13,961 สาย ส่วนท่อระบายน้ำเสียหาย 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง เป็นต้น

ส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจถูก ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านบาท จนถูกประเมินว่าเป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

หลังปี 2554 เป็นต้นมา เกิดสถานการณ์ “อุทกภัย” อีกหลายครั้ง แต่ครั้งรุนแรงรอง ๆ ลงมา คือ ช่วงปี 2560 โดยข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เกิดพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 68 จังหวัด 698 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 3.6 ล้านคน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5,087,352 ไร่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1,050,281,997 บาท หรือราว 1 ล้านล้านบาท

ในปีถัดมาคือ ปี 2561 เกิดอุทกภัยที่รุนแรงไม่แพ้กัน โดยเกิดพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 66 จังหวัด 420 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 1,009,289 ราย เสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 542,067,800 บาท หรือราว 5.4 แสนล้านบาท

ส่วนอุทกภัยในช่วงปีรอง ๆ ลงมาคือ ปี 2557 ประชาชนเดือดร้อนกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านไร่ เสียหาย 3.23 แสนล้านบาท ปี 2558 ประชาชนเดือดร้อนกว่า 8.8 แสนราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 6.9 แสนไร่ เสียหายกว่า 1.62 แสนล้านบาท ปี 2559 ประชาชนเดือดร้อน 1.1 ล้านราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 5.6 แสนไร่ เสียหายกว่า 2.71 แสนล้านบาท เป็นต้น

หากย้อนไปในอดีต “มหาอุทกภัย” เกิดขึ้นอีกหลายครั้งเช่นกัน แต่ไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไว้ เช่น พ.ศ.2485 เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ใน กทม. มีการบันทึกว่าเกือบทุกแห่งต้องเดินทางด้วยเรือ ขณะที่ระดับน้ำหน้ากองรังวัดที่ดินธนบุรี สูงถึง 2.27 เมตร

ส่วน พ.ศ.2529 ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค. 2529 เกิดพายุจรนำฝนตกในพื้นที่ กทม. โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเขตบางกะปิ วัดปริมาณน้ำได้ถึง 254 มม. เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ 

พ.ศ.2538 เกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก โดยวัดค่าที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2538 มีระดับสูงถึง 2.27 เมตร เท่ากับน้ำท่วม พ.ศ.2485 ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมระดับ “มหาอุทกภัย” ในประเทศช่วงที่ผ่านมา สร้างผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน สภาพจิตใจประชาชน รวมไปถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายอย่างหนัก กระทบเป็นลูกโซ่ไปอีกหลายปี

ส่วนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2564 จะเสียหายเท่าไหร่ คงต้องรอดูหลังสถานการณ์คลี่คลายอีกครั้ง