แกะรอย “ก่อการร้าย” ในไทย สัญญาณเตือนภัยจาก ญี่ปุ่น

แกะรอย “ก่อการร้าย” ในไทย สัญญาณเตือนภัยจาก ญี่ปุ่น

ปฐมบท การก่อความไม่สงบเริ่มปี 2558 หลัง "รัฐประหาร" ไม่ถึงปี เกิดเหตุลอบวางระเบิดใจกลาง กทม. หลายครั้ง เช่นเดียวหลายจังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่ยังมีความคลุมเครือว่าเป็นเรื่องการเมือง หรือ "ก่อการร้าย"

พลันที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ส่งสัญญาณไปยังสถานทูตต่างๆที่ประจำในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย แจ้งเตือนพลเมืองให้เฝ้าระวัง "ก่อการร้าย" หลัง "ตอลิบัน" ยึด "อัฟกานิสสถาน" และทยอยปล่อยนักโทษมุสลิม ทั้ง มาเลเซีย,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ ที่ถูกสหรัฐฯควบคุมตัวก่อนหน้านี้กลับประเทศ

"บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการไปยัง "หน่วยงานความมั่นคง" ประสานไปยังสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียขอข้อมูล "ก่อการร้าย" แม้จะไม่ได้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากข่าวที่ปรากฎในหน้าสื่อ

แต่ "พล.อ.ประวิตร" ได้กำชับ "ความมั่นคง" ไม่ให้ประมาท ติดต่อประสานข้อมูลก่อการร้ายกับเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนอย่างใกล้ชิด ในขณะ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้จับตาบุคคลที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เพราะเหตุการณ์ลอบวางระเบิดแยกราชประสงค์ และ จังหวัดภาคใต้ตอนบนคือบทเรียนสำคัญ

ปฐมบท การก่อความไม่สงบเริ่มต้นหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารได้ไม่ถึง 1 ปี โดยในเดือน ก.พ.  2558 เกิดระเบิด 2 ครั้ง บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเหนือแยกราชประสงค์ โดยคนร้ายนำระเบิดไปวางไว้บริเวณประตูของจุดบริการด่วนมหานครสำนักงานเขตปทุมวัน มีผู้บาดเจ็บ 3 คน 

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุการณ์คาร์บอมที่ชั้นใต้ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้บาดเจ็บ 10 คน โดยทั้งสองครั้งเชื่อว่าสาเหตุมาจากการเมือง

จากนั้นวันที่ 17 ส.ค.พ.ศ. 2558 เวลา 18.55 น. เกิดระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กลางกรุงเทพมหานคร ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)รายงานว่าเป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 3 กิโลกรัมบรรจุอยู่ในท่อในบริเวณศาลท้าวมหาพรหม รัศมีทำลายล้างประมาณ 100 เมตร มีผู้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ถัดมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดระเบิดใกล้ท่าเรือสาทร ฝั่งพระนคร ระเบิดภายในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระหว่าง ท่าสาทรและสถานีสะพานตากสิน โดยคาดว่าต้องการโยนลงท่าเรือสาทรแต่พลาดตกลงแม่น้ำ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ในขณะ วันที่ 11-12 ส.ค.2559 เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 ส.ค. 2559

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า  หน่วยงานความมั่นคง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประสานไปยังสถานทูตญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม แต่พล.อ.ประวิตร กำชับให้ติดตามข้อมูลเครือข่ายในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท 

" ประเทศญี่ปุ่น มีความตื่นตัวในเรื่องของการก่อการร้าย เพราะมีคนในประเทศภูมิภาคอาเซียนไปร่วมรบในประเทศอัฟกานิสถานหรือในซีเรีย พล.อ.ประวิตร สั่งติดตามความเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม ที่มีแนวคิดหัวรุนแรง โดยเฉพาะ กลุ่ม Lone Wolf (ก่อเหตุคนเดียว หัวรุนแรง)  ซึ่งไม่เคยมีประวัติมาก่อน ก็ต้องระวัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นทุกกรณีโดยเฉพาะเรื่องมือที่สาม การแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ"

พล.ท.คงชีพ ย้ำว่า ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีก่อการร้ายในประเทศไทย เพราะไทยไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย หรือ เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เราเป็นเพียงประเทศทางผ่าน แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือพวก Lone Wolf อาจจะปฏิบัติการอะไรขึ้นมาก็ได้

ในขณะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานความมั่นคง พยายามดูแลและควบคุมไม่ให้การก่อเหตุลุกลามออกนอกพื้นที่ และเร่งติดตามจับกุมผู้มีหมายจับ ป.วิอาญาและพรบ.ความมั่นคง ควบคู่ไปกับ สร้างความเข้าใจกับประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิต เดินหน้าพูดคุยสันติสุข

แม้ "ประเทศไทย" ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่า จะเกิดการก่อการร้าย แต่การส่งสัญญาณเตือนภัยจาก "ประเทศญี่ปุ่น" ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม