ขมวดเงื่อนปม“นาฬิกาหรู”คดีที่ยังไม่จบ-ของแสลง“บิ๊กป้อม”?

ขมวดเงื่อนปม“นาฬิกาหรู”คดีที่ยังไม่จบ-ของแสลง“บิ๊กป้อม”?

ขมวดเงื่อนปมคดี "นาฬิกาหรู" คดีที่ยังถูกขุดไม่จบ? ฉายภาพครบ "CSI LA" คุ้ยเจอ 25 เรือน 39.5 ล้าน "ป.ป.ช." รับลูกสอบปีเศษ เสียงข้างมากตีตกไป ชี้ "ยืมเพื่อน" ไม่ผิด แต่กรมศุลฯไล่บี้ "ทายาทปัฐวาท" จ่ายภาษี 20 ล้าน ก่อน "ศาลปกครอง" สั่งเปิดเผยผลสอบ

ช่วงปลายปี 2560 เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรียุค “คสช.” 1/5 ตามธรรมเนียมจะต้องมีการถ่ายรูปหมู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล และด้วยสาเหตุว่าวันดังกล่าว “แดดจ้า” เกินไป ทำให้ “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ต้องยกมือขึ้นมาบังแดด เผยให้เห็น “นาฬิกา” สุดหรูประดับอยู่บนข้อมือขวา รวมถึง “แหวนเพชร” บนนิ้วนางข้างขวาด้วย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ของแสลง” สำหรับ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” คนนี้?

พลันที่รูปจากสื่อมวลชนปรากฏออกไป แฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อดังอย่าง “CSI LA” ทำการขุดคุ้ยข้อมูลนาฬิกาเรือนดังกล่าวทันที จนพบว่าเป็นยี่ห้อหรูอย่าง Richard Mille มูลค่าหลักล้านบาท

ทว่าในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตร กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557 ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มิได้มีการแจ้งการถือครองนาฬิกาเรือนนี้ รวมถึงแหวนเพชรดังกล่าว แต่อย่างใด?

ข้อมูลในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประวิตร เมื่อปี 2557 ระบุสถานะว่า “โสด” มีทรัพย์สิน 87,373,757 บาท ได้แก่ เงินฝาก 53,197,562 บาท เงินลงทุน 7,076,195 บาท ที่ดิน 17,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10,000,000 บาท ยานพาหนะ (รถยนต์ 1 คัน) 100,000 บาท ไม่มีทรัพย์สินอื่น ไม่มีหนี้สิน

ทั้งที่การถือครอง “นาฬิกาหรู” และ “แหวนเพชร” ดังกล่าวจะต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช. ในหมวดของ “ทรัพย์สินอื่น”

ผ่านไปราวสัปดาห์หนึ่ง ช่วงเดือน ธ.ค. 2560 พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในเรื่องนี้ว่า เป็นการ “ยืมนาฬิกามาจากเพื่อน” ส่วนแหวนเพชรเป็นของ “มารดา” ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก “บิดา”

อ่านข่าว : “ศาลปกครอง”สั่ง ป.ป.ช.เปิดเผยผลสอบคดีนาฬิกาหรู-คำชี้แจง“บิ๊กป้อม”

ในช่วงเวลานั้นแฟนเพจ “CSI LA” ทำการขุดคุ้ยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2561 ได้สรุปข้อมูลว่า พล.อ.ประวิตร ใส่ “นาฬิกาหรู” ที่ปรากฏภาพจากข่าวของสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 อย่างน้อย 25 เรือน ได้แก่ Rolex 11 เรือน Patek Philippe 8 เรือน Richard Mille 3 เรือน Audemars Pigue 2 เรือน A. Lange & Sohne 1 เรือน รวมมูลค่าประมาณ 39.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเงินช่วงต้นปี 2561)

ทำให้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่?

เวลาผ่านไปราว 1 ปีเศษ ช่วงเดือน ธ.ค. 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 ว่า พล.อ.ประวิตร มิได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ โดยกรณีการยืม “นาฬิกาเพื่อน” ไม่เป็นความผิด

  • โดยกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 ราย ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์
  • ส่วนเสียงข้างน้อย 3 ราย ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง

ส่วน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่เคยเป็น “หน้าห้อง” พล.อ.ประวิตร อาจมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงขอถอนตัวออกจากห้องประชุม ไม่ลงมติกรณีดังกล่าว

ขณะที่ข้อเท็จจริงตามการไต่สวน ป.ป.ช. พบว่า พล.อ.ประวิตร เคยเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 4 ครั้ง สรุปได้ว่า พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกามาจากเพื่อนสนิทคือ นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และได้คืนไปหมดแล้ว ขณะที่ข้อมูลจากพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง เอกสารหลักฐานจากผู้แทนจำหน่ายนาฬิกาหรูในไทย รวมถึงเอกสารจากหน่วยงานราชการ ทั้งกรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายปัฐวาท เป็นนักธุรกิจที่มีฐานะการเงิน และทรัพย์สินจำนวนมาก และชอบสะสมนาฬิการาคาแพง และมีการเก็บรักษานาฬิกาไว้จำนวนมากกว่าที่ถูกร้องเรียน

ส่วนคำให้การของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อเท็จจริงว่า นายปัฐวาท เป็นคนมีฐานะดี คอยช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มเพื่อนที่เคยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และได้ให้เพื่อนในกลุ่มโรงเรียนเซนต์คาเบรียลยืมนาฬิการาคาแพงไปใช้สวมใส่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อนร่วมห้องเดียวกับนายปัฐวาท ที่มีความสนิทสนมกัน นอกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแล้ว นายปัฐวาท ยังให้เพื่อนกลุ่มอื่นยืมนาฬิกาไปใส่ด้วย

เมื่อพิจารณาจากนาฬิกา 22 เรือน อยู่ในบ้านของนายปัฐวาท 20 เรือน พบใบรับประกัน 1 เรือน แต่ไม่พบนาฬิกา รวมเป็น 21 เรือน พบหลักฐานว่า นายปัฐวาท เป็นผู้ซื้อจากผู้จำหน่ายในต่างประเทศ 1 เรือน ซื้อต่อจากผู้อื่น 2 เรือน ส่วนที่เหลือไม่พบหลักฐานซื้อจากผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ และกรมศุลกากรไม่สามารถตรวจสอบยืนยันการนำเข้านาฬิกาจากต่างประเทศได้ เพราะผู้นำเข้าบางรายไม่สำแดงข้อมูลรายละเอียดของนาฬิกา ในส่วนของการขอข้อมูลการซื้อขายนาฬิกาจากต่างประเทศ บางประเทศได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือบางประเทศตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานฟังได้ว่า นาฬิกาที่ปรากฎเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท ได้สะสมไว้ แม้ไม่ปรากฎเอกสารการซื้อขายว่า นายปัฐวาท เป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่า นายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และให้ พล.อ.ประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่าง ๆ ประกอบกับนายปัฐวาท ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิกาด้วย 

จึงรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท ส่วนนาฬิกาอีก 1 เรือนที่ยังหาไม่พบนั้น จากการตรวจสอบยังไม่พบรายละเอียดของนาฬิกาเรือนดังกล่าว แต่เมื่อนาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย และนายปัฐวาท เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อรับฟังว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมนาฬิกาของนายปัฐวาท มาใส่ออกงานต่าง ๆ จำนวน 21 เรือนข้างต้น 

จึงรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกาที่ยังตรวจสอบไม่พบมาใส่เช่นกัน และไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายปัฐวาท และบริษัท คอม-ลิงค์ฯ เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม จากพยานหลักฐานดังกล่าว

ส่วนกรณีแหวนมารดาจำนวน 12 วงนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร เห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าแหวนจำนวน 3 วง เป็นทรัพย์มรดกของบิดา พล.อ.ประวิตร ที่ได้รับมาจากมารดาในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงแหวนดังกล่าวในบัญชีทรัพย์สิน ในกรณีเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว แหวนที่เหลือเป็นแหวนที่เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยทหาร หรือแหวนวัตถุมงคลที่มีราคาไม่มากนำมาใส่เพื่อเป็นสิริมงคล หรือใส่เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของสังกัด จึงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นกัน จึงมีมติเอกฉันท์ให้กรณีนี้ตกไป

อย่างไรก็ดีกรณีของ “นาฬิกาหรู” ยังคงเดินหน้าต่อไปใน 2 ประเด็น ได้แก่

  • 1.กรณีการเสียภาษีนำเข้า “นาฬิกาหรู” ดังกล่าว เมื่อ พล.อ.ประวิตร อ้างว่ายืมนายปัฐวาทมา แต่ข้อมูลจากกรมศุลกากรพบว่า มีอย่างน้อย 22 เรือน มิได้มีการสำแดงการนำเข้า จึงต้องเก็บภาษีจากทายาทของนายปัฐวาท (เนื่องจากนายปัฐวาทเสียชีวิต) โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2564 กรมศุลกากรดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากทายาทของนายปัฐวาทแล้ว จำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท
  • 2.คดีรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท จากการยืม “นาฬิกาเพื่อน” โดยเมื่อปี 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก มีมติให้ยกคำร้องกล่าวหา พล.อ.ประวิตร กรณีดังกล่าว โดยที่ พล.ต.อ.วัชรพล และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ขอถอนตัวไม่ร่วมลงมติ

ขณะที่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) อธิบายถึงกรณีนี้ว่า การยืม 2 ลักษณะคือยืมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นหนี้สิน และยืมในเชิงนิติประเพณี โดยในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ไม่มีการกำหนดให้แสดงรายการทรัพย์สินที่ยืมในเชิงนิติประเพณีดังกล่าวไว้ และเรื่องการยืมที่ถือเป็นนิติประเพณีนั้น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อน เคยวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด ประเทศไทยเคยมีกรณีการยืมทรัพย์สินประเภทรถยนต์จำนวนมาก อาทิ กรณีนักการเมืองรายหนึ่งขับรถเบนท์ลี่ย์สีชมพูเข้าทำเนียบรัฐบาล จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่ามีการแจ้งทรัพย์สินดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ จนมีการตรวจสอบ แต่นักการเมืองรายดังกล่าวก็ได้ชี้แจงว่ายืมมาจากเพื่อนที่อยู่ประเทศสิงคโปร์ และได้คืนไปแล้ว จึงไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ต้องยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. ดังนั้นการวินิจฉัยเรื่องการยืมทรัพย์สินจึงยึดแนวคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ชุดก่อน

แม้ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดี “นาฬิกาหรู” จะจบหมดลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 ก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยผลการไต่สวนข้อเท็จจริง และคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ในคดีดังกล่าวแก่สื่อมวลชน

ดังนั้นคงต้องรอดูในผลการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ และจะมีประเด็นใหม่อะไรให้ “ขุดคุ้ย” กันอีกหรือเปล่า?