พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 โทษหนักขัดขวางเจอคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ความว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจ ากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 34 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ซึ่งกำหนดในมาตรา 2 ให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 9 หมวด 85 มาตรา

สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มีทั้งหมด 85 มาตรา มีสาระสำคัญอาทิ ในหมวด บททั่วไป มาตรา 9 การออกเสียงประชามติ ให้ทำได้ใน 5 กรณีประกอบด้วย

(1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร (3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง (4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ และ (5) การออกเสียงกรณีประชาชน (ไม่น้อยกว่า 50,000คน ) เข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ขณะที่ มาตรา 13 กำหนดเงื่อนไขการออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

มาตรา 53 เพิ่มช่องทางสำหรับคนไทยที่มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้สามารถใช้สิทธิออกเสียงงทางไปรษณีย์ หรือลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ส่วนบทกำหนดโทษอยุ่ในหมวด 9 อาทิ มาตรา 77 ผู้ใดกระทำการขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่หากผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ, เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงต้องระวางโทษจำาคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วย การออกเสียงประชามติให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้