เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ "เลือกตั้ง อบต." 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ

เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ "เลือกตั้ง อบต." 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ

เปิด "ปฏิทิน" กำหนดเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง ตั้งแต่วันประกาศเลือกตั้ง วันรับสมัครเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง 28 พ.ย. ไปจนถึงวันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง 27 ม.ค.2565

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.2564 โดยมีวันสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.2564 ถือเป็นการ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ลำดับที่ 3 ต่อจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) จัดขึ้นไปเมื่อ 20 ธ.ค.2563 และเลือกตั้งเทศบาลจัดขึ้นเมื่อ 28 มี.ค.2564 

เป็นเวลา 8 เดือนเต็มที่คนท้องถิ่นจะได้กลับมาเลือกตั้ง "ผู้แทน" ระดับ อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ (อัพเดท 13 ก.ย.64) ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่มีจำนวนมากที่สุดกว่าทุกระดับ เมื่อเปรียบเทียบกับ อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กทม.และเมืองพัทยา) อีก 2 แห่ง ถึงแม้รูปแบบการบริหาร อบต.จะเป็นท้องถิ่นขนาดเล็กก็ตาม แต่ถือว่าใกล้ชิดประชาชนชนบทมากที่สุดกว่าท้องถิ่นระดับอื่น

ขั้นตอนหลังจากนี้ "กกต." จะลงนามประกาศเลือกตั้งในวันที่ 1 ต.ค.2564 มีผลให้นายก อบต.ที่รักษาการณ์ต้องพ้นตำแหน่งทันที จากนั้นเป็นช่วง "นักเลือกตั้งท้องถิ่น" สาย อบต.จะขยับตัวหาเสียงก่อนถึงวันเลือกตั้งอีกในวันที่ 28 พ.ย.2564

อ่านข่าว : ธรรมนัสลั่นพร้อมสู้เลือกตั้งท้องถิ่น จ่อส่งส.ก. ครบ 50 เขต

เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ \"เลือกตั้ง อบต.\" 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ

"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูล "ไทม์ไลน์" ฉบับเต็มในการ "เลือกตั้ง อบต." นับตั้งแต่วันที่ ครม.อนุมัติจัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2564 จนถึงปฏิทินประกาศเลือกตั้งวันสุดท้ายวันที่ 27 ม.ค.2565 มีรายละเอียดดังนี้

กันยายน 

7 ก.ย.64 : ครม.มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้ง

• ตุลาคม

1 ต.ค.64 : วันที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง 

2 ต.ค.64 : วันที่ ผอ.กต.ท้องถิ่น เสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้ง

5 ต.ค.64 : วันที่ ผอ.กต.จังหวัด ให้ความเห็นชอบร่างประกาศให้มีการเลือกตั้ง

6 ต.ค.64 : วันที่ ผอ.กต.ท้องถิ่น ประกาศให้มีการเลือกตั้ง 

11-15 ต.ค.64 : วันรับสมัครรับเลือกตั้ง 

22 ต.ค.64 : ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง

25 ต.ค.64 : วันสุดท้ายยื่นคำร้องต่อ กกต.กรณีไม่รับสมัคร 

พฤศจิกายน

2 พ.ย.64 : ประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

7 พ.ย.64 : วันสุดท้ายการยื่นคำร้องคัดค้านการรับสมัคร

12 พ.ย.64 : วันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน 

17 พ.ย.64 : วันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ และวันสุดท้าย กกต.วินิจฉัยสิทธิสมัคร 

20 พ.ย.64 : วันสุดท้ายแจ้งการแต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร 

21-27 พ.ย.64 : แจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ภายใน 7 วันก่อนเลือกตั้ง

27 พ.ย.64 : วันสุดท้ายศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาควินิจฉัยสิทธิสมัคร วันสุดท้ายอบรมเจ้าหนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง และมอบวัสดุอุปกรณ์

28 พ.ย.64 : วันเลือกตั้ง อบต.

29 พ.ย.-5 ธ.ค.64 : แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ธันวาคม

15 ธ.ค.64 : วันสุดท้ายจัดส่งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจัดทำบัญชีผู้ถูกจำกัดสิทธิ 

28 ธ.ค.64 : วันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง

มกราคม 2565 

27 ม.ค.65 : วันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง และวันสุดท้ายจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถูกจำกัดสิทธิ

เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ \"เลือกตั้ง อบต.\" 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ

สำหรับที่มาของ "อบต." จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 โดยโครงสร้างการบริหาร อบต.ถูกแยกเป็น 2 ส่วน 1.ฝ่ายบริหาร มีนายก อบต.เป็นผู้บริหารสูงสุด และ 2.ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิก อบต.ทำหน้าที่ใน "สภา อบต." 

ส่วนการได้มาซึ่ง "นายก อบต.-สมาชิก อบต." มาจากการเลือกตั้ง 2 ระดับ ประกอบด้วย 1.นายก อบต.ใช้ "เขตตำบล" เป็นเขตเลือกตั้ง และ 2.สมาชิก อบต.ใช้ "เขตหมู่บ้าน" เป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีหมู่บ้านใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้นายอำเภอรวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้งเดียว โดยถือจำนวนราษฎร ณ วันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง และต้องประกาศภายใน 31 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง

"กรุงเทพธุรกิจ" ยังตรวจสอบข้อมูลจำนวน อบต.แต่ละจังหวัดทั้งประเทศที้มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1.นครราชสีมา 243 แห่ง 

2.ศรีษะเกษ 179 แห่ง เท่ากับอุบลราชธานี 179 แห่ง 

3.บุรีรัมย์ 145 แห่ง 

4.สุรินทร์ 144 แห่ง 

5.ขอนแก่น 140 แห่ง 

6.นครศรีธรรมราช 130 แห่ง 

7.ร้อยเอ็ด 129 แห่ง 

8.มหาสารคาม 123 แห่ง 

9.พระนครศรีอยุธยา 121 แห่ง เท่ากับนครสวรรค์ 121 แห่ง 

10.อุดรธานี 109 แห่ง

ขณะที่จำนวน "สภา อบต." พิจารณาจากเขตเลือกตั้งหมู่บ้าน ละ 1 คน แต่หาก อบต.ใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง ให้สภา อบต.นั้น (ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน) จะแบ่งได้ดังนี้

ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 6 คน

ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน

ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน

ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรกเขตเลือกตั้งละ 1 คน

ถ้ามี  5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนและเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

ทั้งหมดเป็น "ปฏิทิน" ในรอบ 4 เดือนต่อโรดแมพ "เลือกตั้ง อบต." ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง ตั้งแต่วันประกาศเลือกตั้งของ กกต. วันรับสมัครเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง 28 พ.ย. ไปจนถึงวันสุดท้ายประกาศผลการเลือกตั้ง 27 ม.ค.2565

เปิดคู่มือ ปชช.ต้องรู้ ไทม์ไลน์ \"เลือกตั้ง อบต.\" 5.3 พันแห่งทั่วประเทศ