พลิกคดีทุจริตฟุตซอล เขย่า‘วิรัช’14 ก.ย.ส่ง 7 สำนวนฟ้องศาลฎีกาฯ

พลิกคดีทุจริตฟุตซอล เขย่า‘วิรัช’14 ก.ย.ส่ง 7 สำนวนฟ้องศาลฎีกาฯ

ย้อนปูมคดีทุจริตจัดสรรงบก่อสร้างสนาม "ฟุตซอล" เขย่า "วิรัช" พ่วง "ภริยา-น้องเมีย" นัด 14 ก.ย. นำตัวส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

14 ก.ย.2564 เป็นอีกวันสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งนัดผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 84 ราย คดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลรวม 7 สำนวน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ไปรายงานตัวเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ที่บอกว่าสำคัญเนื่องจากคดีดังกล่าวปรากฏชื่อของ ‘บิ๊กเนม’ การเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นผู้ถูกกล่าวหา ‘ระดับนำ’ รวมอยู่ด้วย ได้แก่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) รวมถึงนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยา และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องสาวนางทัศนียา รวมอยู่ด้วย

โดยนายวิรัช และนางทัศนียา ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่วนนางทัศนาพร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแถลง

รวมไปถึงบรรดาอดีตผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เช่น นายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการ สพฐ. และบรรดาผู้บริหาร สพฐ. รายภาค-รายจังหวัด ผู้บริหารโรงเรียน-ครูอีกกราวรูด พ่วงเอกชนอีก 9 ราย

คดีดังกล่าวถูกตรวจสอบมาตั้งแต่ช่วงปี 2555 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า โครงการสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. หลายแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน สร้างไปไม่กี่เดือนก็พัง ทำให้ถูกสื่อมวลชน และองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

สืบสาวลึกลงไปจนพบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานธรรมดา ๆ แต่เป็นการ ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ ระดับมโหฬาร โยงใยบรรดา ‘นักการเมือง-ข้าราชการ’ ลอตใหญ่ วงเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล”

“รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์” คือ ‘คีย์เวิร์ด’ เกริ่นนำในสำนวนการไต่สวน ป.ป.ช.

สำหรับพฤติการณ์ของ ‘วิรัช-ทัศนียา-ทัศนาพร’ ตามสำนวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปีงบประมาณ 2555 นายวิรัช รัตนเศรษฐ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยแถลงขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งเป็นน้องสาวนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ได้สั่งการให้พวกของตน เข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าวโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย

พลิกคดีทุจริตฟุตซอล เขย่า‘วิรัช’14 ก.ย.ส่ง 7 สำนวนฟ้องศาลฎีกาฯ

ในส่วนของการประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ นายวิรัชได้สั่งการให้นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง ครูโรงเรียนบ้านขามเฒ่า คนสนิทของตน เข้าไปประสานงานเพื่อให้ได้รายชื่อโรงเรียนที่ต้องการก่อสร้างสนามฟุตซอล

ภายหลังจากที่ได้รับการประสานรายชื่อโรงเรียนแล้ว เจ้าหน้าที่ของ สพฐ. ก็จะนำรายชื่อโรงเรียนต่างๆ ดังกล่าว มาตรวจสอบกับใบโควตาไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่ได้รับแล้วทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อลงนามในหนังสือจัดสรรงบประมาณปี 2555 พร้อมแนบรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับประสานมานั้นไปด้วย แล้วส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต (ในลักษณะ TOP DOWN) ในขณะเดียวกันก็แจ้งไปยังสำนักการคลังและสินทรัพย์ เพื่อโอนงบประมาณในส่วนนี้ไปให้ เฉพาะจังหวัดนครราชสีมาได้รับงบประมาณเป็นจำนวน 295 ล้านบาท

ขณะที่พฤติการณ์การประมูลพบว่า มีการกำหนดปฏิทินเตรียมการไว้ล่วงหน้า ผ่าน ‘คนสนิท’ ของนายวิรัช ดีลกลุ่มเอกชนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยกำหนดวันที่เสนอราคาเป็นวันเดียวกัน แยกรายเขต มิให้ผู้ค้ารายอื่นรู้ราคาที่แท้จริงที่มีการประมูลได้ รวมถึงกำหนด TOR ในลักษณะ ‘ล็อกสเปก’ อีกด้วย?

โดยกลุ่มเอกชนที่เข้ามามี ‘บทบาทนำ’ ในคดีนี้คือ ‘กลุ่มยี’ หรือนายยี พณิชยา เจ้าของ หจก.เอ็มเอไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัท วอเตอร์ ฮีล แลนด์ จำกัด รวมถึง ‘กลุ่มเอ๋’ หรือนางเบญจพันธ์ บุญบงการ กรรมการผู้จัดการบริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด ในการ ‘ดีล’ กับ ‘คนสนิท’ นายวิรัช เพื่อประมูลก่อสร้างสนามฟุตซอลดังกล่าว

อย่างไรก็ดีคดีนี้นายวิรัช เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่าตัวเอง ‘บริสุทธิ์’ และพร้อมต่อสู้คดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ยัง ‘ฟ้องกลับ’ ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. คดีดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ด้วย

ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายวิรัช กับพวกรวม 84 รายแล้ว ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ กระทั่งท้ายที่สุด อสส. ‘เคาะ’ มีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้ง 7 สำนวน และส่งรายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช. ออกหมายเรียกนัดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 84 ราย ในวันที่ 14 ก.ย. 2564 เพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

นายวิรัช เคยทำหนังสือถึง ป.ป.ช. ขอเลื่อนการเข้าพบอัยการในวันที่ 14 ก.ย. 2564 ออกไปก่อน แต่ ป.ป.ช. ระบุว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาเลื่อน ขณะที่การฟ้องต่อศาลฎีกาฯไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ถูกกล่าวหาไปก็ได้ ดังนั้นหากนายวิรัชต้องการเลื่อนสามารถยื่นคำร้องถึงศาลฎีกาฯได้เอง แต่หากไม่มีเหตุผลอันสมควรศาลฎีกาฯอาจพิจารณาออกหมายจับได้เช่นกัน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือในวันที่ 14 ก.ย. 2564 นายวิรัช และผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจะเดินทางไปพบอัยการเพื่อถูกนำตัวฟ้องต่อศาลฎีกาฯหรือไม่