ฉบับเต็ม! ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง‘สุรพล’ขอคืนตำแหน่ง ส.ส.-กกต.ทำตาม กม.

ฉบับเต็ม! ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง‘สุรพล’ขอคืนตำแหน่ง ส.ส.-กกต.ทำตาม กม.

“ศาล รธน.” ไม่รับคำร้อง “สุรพล เกียรติไชยากร” ขอให้ “กกต.” คืนสถานะตำแหน่ง “ส.ส.” เหมือนเดิม หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิพากษาแล้วว่า การเลือกตั้งเขต 8 เชียงใหม่ 24 มี.ค. 62 สุจริตเที่ยงธรรม เหตุดำเนินการตามกฎหมาย-มีสิทธิยื่นศาลอื่นเยียวยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่งที่ 32/2564 กรณีนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ร้อง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการ กกต. เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-2 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี กกต.มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชนเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง จากการใส่ซองงานศพ แต่ต่อมาศาลฎีกา (แผนคดีเลือกตั้ง) และศาลฎีกา (แผนกคดีเลือกตั้ง) มีคำพิพากษายกคำร้องกล่าวหานายสุรพล กรณีดังกล่าวย่อมทำให้นายสุรพลกลับสู่สถานะเดิม การกระทำของ กกต. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 100, 224 วรรคหนึ่ง (4), 225, 226 อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

โดยนายสุรพลขอให้ผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ในเขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา (แผนกคดีเลือกตั้ง) ที่ 4209/2563 และวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กกต. ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลของสถาบันตุลาการตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ และกำหนดบรรทัดฐานการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างผลคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของคณะกรรมการ กกต. ภายหลังศาลฎีกา (แผนกคดีเลือกตั้ง) มีคำพิพากษา และวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายสุรพล ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้ง เขต 8 จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 
 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่นายสุรพล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เนื่องจากกรณีสำนักงาน กกต. และคณะกรรมการ กกต. เพิกเฉยไม่ดำเนินการให้นายสุรพลกลับคืนสู่สถานะเดิม อย่างไรก็ดีการยื่นคำร้องตามมาตรา 213 ดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46

แม้นายสุรพล ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการพิจารณาให้ยุติเรื่อง อันทำให้มีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่การกระทำของสำนักงาน กกต. และคณะกรรมการ กกต. ตามที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยสำนักงาน กกต. และคณะกรรมการ กกต. ต่างเป็นอิสระต่อกันในแต่ละขั้นตอนของการกระบวนการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองไว้
 

หากนายสุรพลเห็นว่า สำนักงาน กกต. และคณะกรรมการ กกต. กระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่กล่าวอ้าง อาจใช้สิทธิเยียวยาศาลอื่นได้ กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายสุรพล ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย