"บัญญัติ" ชี้ญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ "มงคล" กับการเมืองไทย

"บัญญัติ" ชี้ญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ "มงคล" กับการเมืองไทย

บัญญัติ มองญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความแก้รัฐธรรมนูญ​ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หวั่นกระทบความคาดหวังของสังคม - ไม่เป็นมงคลกับการเมืองไทย

   นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ต่อญัตติด่วน เพื่อขอมติจากรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ว่า ญัตติดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เนื่องจากมาตรา 156 ที่กำหนดเรื่องให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่มีเนื้อหาดังกล่าวบัญญัติไว้ แม้มาตราดังกล่าวจะระบุเปิดช่องให้เรื่องอื่นตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตนเชื่อว่ามีเพียงประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และตนเชื่อว่าญัตติดังกล่าวหากถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะเสียเปล่าเพราะขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้นดำเนินการไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ทั้งรัฐสภารับหลักการ มีกระบวนการแปรญัตติ และรอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระสองและวาระสาม

 

   นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้ระบุ ที่ผ่านมาเคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ในปี 2491 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ในปี 2539 เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ส่วนกรณีที่อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติจากประชาชน ตนถือเป็นคำวินิจฉัยที่ชี้ว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้โดยชอบธรรมครบถ้วน โดยให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ไปสู่ประชาชนด้วยการลงประชามติ

 

   “คนมีความหวังต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากความหวังนั้นถูกล้ม สลายไป น่าเสียดายว่าคนในประเทศจะรู้สึกว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นทำได้โดยรัฐประหารเพียงอย่างเดียว ส่วนประชาชนไม่มีโอกาส ดังนั้นหากเรื่องนี้เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าจะมีเรื่องไม่เป็นมงคลเกิดขึ้นกับการเมืองไทย” นายบัญญัติ อภิปราย

        ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนความเห็นของนายบัญญัติ พร้อมเสนอความเห็นว่าญัตติดังกล่าวเชื่อว่าเพื่อความรอบคอบ แต่ความรอบคอบที่เกินงาม อาจถูกตีความว่าแอบแฝงและเดิมพันต่อความคาดหวังของสังคมจนนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งได้.