“สมานฉันท์ได้” ต้องคิดนอกกรอบ

“สมานฉันท์ได้”   ต้องคิดนอกกรอบ

การปฏิเสธร่วมวงกรรมการสมานฉันท์ของ "ฝ่ายค้าน-คู่ขัดแย้ง" ของรัฐบาล ถือเป็นสัญญาณชัดว่า ปรองดองอาจไม่ถึงฝั่ง แต่สิ่งที่อาจเป็นทางออกของปัญหานี้ ยังพอมี คือ การคิดนอกกรอบ โดยเฉพาะ กรอบการสืบทอดอำนาจ "รัฐบาลทหาร"

       “กรรมการสมานฉันท์” ที่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ 11 คน จากขั้วรัฐบาล 6 คน พ่วงกับและ นักวิชาการ 5 คน เตรียมตั้งวงประชุมนัดแรก 18 มกราคม นี้

       คำถามสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ “ปรองดองเรื่องอะไร” และ “สมานฉันท์กับใคร”  
       ในเมื่อสถานการณ์การชุมนุมของ “ม็อบคณะราษฎร และแนวร่วม” ขณะนี้อยู่ในภาวะนิ่ง และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
       แต่ต้องยอมรับว่า "ความขัดแย้งทางความคิด" ยังเป็นต้นตอสำคัญที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ
       สิ่งที่ถูกฉายเป็นไอเดียจาก “กรรมการสมานฉันท์” ฐานะผู้ที่เคยทำงานด้านความปรองดอง สมานฉันท์ อย่าง “นพ.วันชัย วัฒนศัพท์" ผู้อำนวยการหลักสูตรพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  โรงเรียนพัฒนาผู้นำสู่สันติธรรม หรือ “อ.สุริชัย หวันแก้ว” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       คือ การเปิดพื้นที่รับฟังความคิด เพราะในต้นแบบของการสร้างความสมานฉันท์ คือ “การรับฟัง” เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างความเข้าใจ

161058899491

       สิ่งที่ "นพ.วันชัย” ให้มุมมองไว้ คือ “เวทีของกรรมการ ไม่ใช่การเอาแพ้ หรือเอาชนะ แต่คือการหาทางปรองดอง โดยต้องหาความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายต่างๆ เพื่อหาจุดร่วมกัน ส่วนกรณีที่กลุ่มขั้วขัดแย้งปฏิเสธเข้าร่วม อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าคือ เวทีของการซูเอี๋ย ทั้งที่ไม่ใช่ ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากทำความเข้าใจกับคู่ขัดแย้ง ไม่มองอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรู และรับฟังความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปสู่บทสรุปของความปรองดอง โดยไม่แปลงสาร อาจได้แนวทางสมานฉันท์”
       และ นพ.วันชัย ฉายความคิดที่ต่อยอดไปถึง การตั้งกรรมการสมานฉันท์ เพื่อเป็นเวทีถาวร สำหรับแก้ไขปัญหา
161058922186
       เช่นเดียวกับ “อ.สุริชัย” ที่เชื่อว่า การไม่ตั้งธงว่าฝ่ายใดคือตัวปัญหา และยอมรับร่วมกันปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนต้องรับผิดชอบ จะเป็นจุดเร่ิมต้นที่นำไปสู่การพูดคุย
       ซึ่งภาพที่ฉายออกมาในมุมมองของ "นักสันติวิธี” ต้องยอมรับว่าเป็น แนวทางสำเร็จรูปที่ทำให้การปรองดองในยุคสมัยต่างๆ เป็นทางคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง
       แต่อาจนำมาใช้ไม่ได้ ในสถานการณ์การเมืองไทย ยุคใหม่ ที่ยึด “จุดยืน และ แนวความคิด” ของตัวเองเป็นหลัก ปักไว้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง
       และมีความยึดมั่นใน ความคิดว่า “โลกสมัยนี้ และอนาคตที่จะเกิดขึ้น” คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นจะออกแบบสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง ส่วน “คนรุ่นก่อน” ถูกตีตรา ให้เป็น ตัวขัดขวาง
       ดังนั้นโจทย์ ที่จะต้องแก้ เพื่อให้เกิดความปรองดอง เชื่อแน่ว่า ความคิดแบบสูตรสำเร็จในยุคก่อน อาจปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับโลกปัจจุบันได้น้อย
       แต่สิ่งที่อาจพอเป็นทางแก้ไข คือ “การคิดนอกกรอบ”
       โดยเฉพาะ การคิดนอกกรอบของอำนาจ และ คิดนอกกรอบ ที่จะช่วยประคอง “รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม”
       เพราะหากตัวแทนกรรมการสมานฉันท์ ที่ส่วนใหญ่ คือ คนของรัฐบาล ยังคิดแต่การครองอำนาจของพรรคพวก ตนเองเป็นที่ตั้ง แม้จะรับฟังเสียงของตัวแทนคนรุ่นใหม่ หรือ ขั้วขัดแย้งกี่ร้อยเวที สุดท้ายหากไม่หลุดกรอบเรื่องของ “อำนาจ”  ความปรองดองที่อยากให้เกิด คงไม่มี
       เช่นเดียวกับ กรณีของกลุ่มที่เป็นตัวแทนคู่ขัดแย้ง หากไม่ลดอัตตาของฝั่งตนเองลง หรือ ลดความต้องการบนผลประโยชน์ที่แอบแฝง การสมานฉันท์ ที่เห็นแก่ประเทศชาติ คงไม่เกิดขึ้น
       และที่สำคัญ เมื่อกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ ทำรายงานเสร็จ ต้องนำเข้าสู่ “รัฐสภา” ให้พิจารณาและถกเถียง
       หากไร้ซึ่งการยอมรับ และบทสรุปไม่ได้เพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง เวทีรัฐสภา จะกลายเป็นจุดที่ทำให้ ความขัดแย้งปะทุขึ้นมาใหม่.