ถอดโมเดล ‘สมานฉันท์’ 10ปี ‘ตัวละครเก่า’ บทบาทใหม่

ถอดโมเดล ‘สมานฉันท์’  10ปี ‘ตัวละครเก่า’ บทบาทใหม่

จากการชุมนุมปี53 ถึงการชุมนุมปี63 10ปีแม้บริบทการเมืองจะเปลี่ยนไป แต่การที่ตัวละครในวันนั้นกลับมามีบทบาทในวันนี้ ทำให้จังหวะก้าวย่างของการมี "คณะกรรมการสมานฉันท์" ถือเป็นจังหวะก้าวย่างที่ต้องจับตา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการทางการเมือง การชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ย่อมตามมาด้วยการเสนอทางออกในการฝ่าวิกฤติประเทศ ไม่ต่างไปจากครั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร 63” ได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกหรือยุบสภา และข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่เมื่อข้อเรียกร้องของ “ม็อบ 3 นิ้ว” ทำท่าว่าจะไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะประเด็นการให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ที่ ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า "ไม่ออก" , การปฏิรูปสถาบันที่ยังมีเสียงจากอีกฝั่งมองว่าเกิดขึ้นยาก

ส่วนหนึ่งมีผลมาจากบางการกระทำ หรือบางคำพูด  จนทำให้เส้นบางๆระหว่างคำว่า "ปฏิรูป" กับคำว่า "จาบจ้วง"ถูกมองว่าป็นเรื่องเดียวกัน

จะมีก็แต่เพียงข้อเรียกร้องในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มี 6 ร่าง ที่เสนอโดย ส.ส.ทั้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาล และอีก 1 ร่าง ที่เสนอโดยภาคประชาชน ค้างอยู่ในสภา เพื่อรอการออกเสียงรับหลักการในวาระแรก ที่พอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง

ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้เองที่กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ฝั่งม็อบต้องปรับแผน "ยกระดับการชุมนุม" ในรูปแบบต่างๆมากขึ้น นำมาสู่การเสนอโมเดลในการหาทางออกประเทศในรูปแบบต่างๆ 

ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการที่ชื่อว่า “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศ” ซึ่งจะมีตัวแทน 7 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล  ผู้แทน ส.ส.รัฐบาล ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ เพื่อมาทำหน้าที่ในการเสนอแนวทางฝ่าวิกฤติในครั้งนี้

160398021525

โมเดลดังกล่าวมีการเทียบเคียงว่า ลอกมาจาก “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ตั้งขึ้น ภายหลังเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 53 ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ประธานรัฐสภาในขณะนั้น คือ “ชัย ชิดชอบ” ได้ลงนามคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการ 39 คน มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ

โดยการตั้งคณะกรรมการในครั้งนั้นนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการระบุอย่างชัดเจนว่า “ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ปฏิบัติ”

160398039079

 รวมทั้งการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องใน 6 ประเด็น 1.การยกเลิกการยุบพรรคแต่คงไว้ในประเด็นการ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค 2.การมี ส.ส.500คน (เขตเดียวคนเดียว400+บัญชีรายชื่อ100คน) 3. ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ทำหน้าที่เป้นเสมือน “สภาพี่เลี้ยง” เท่านั้น

4.ประเด็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา 5.การดำรงตำแหน่งของส.ส. และ 6.ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วไม่นาน “อภิสิทธิ์” ได้ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในท้ายที่สุด

แม้จะมีการมองว่า "โมเดลสมานฉันท์เวอร์ชั่น53" ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  แต่ผ่านไป10 ปีโมเดลดังกล่าวถูกหยิบยกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่า ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดคำถามว่า โมเดลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้กับการเมืองยุคนี้ ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อเสนอ “ทะลุเพดาน” ของม็อบนักศึกษาได้หรือไม่

แม้จะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่คือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” และ “การไล่รัฐบาล” แต่ ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า “ไม่ลาออก” ขณะที่ข้อเรียกร้อง“ปฏิรูปสถาบัน” นั้นไม่ปรากฎภาพในลักษณะดังกล่าวในการชุมนุมปี 53 

160398123342

คณะกรรมการชุดนี้นอกจากจะไม่ได้รับการตอบรับจากพรรคฝ่ายค้านในการเข้าร่วมแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดมีท่าทีมาจาก "พรรคก้าวไกล"  โดย "ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรค บอกว่า เงื่อนไขของคณะกรรมการครั้งนี้คือ "ต้องนำเอาข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันฯเข้าหารือเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วย" 

ดังนั้นจาก “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ที่เกิดขึ้นนี้เอง จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ฝ่ายต่างๆ จะต้องนำมาฉุกคิดเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ยิ่งตัวละครในวันนั้นโดยเฉพาะ “พี่น้อง 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครั้งนั้นเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้น รวมถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนที่กลับมามีบทบาทสำคัญในวันนี้ด้วยแล้ว 

การหาแนวทางฝ่าวิกฤตินับจากนี้ จึงถือเป็นจัวหวะก้าวย่างที่ต้องจับตาว่า จะเป็น “ทางออก” ของวิกฤติครั้งนี้ได้หรือไม่