ร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน เสี่ยง 'ตกขบวน' สภา

ร่างแก้ รธน. ฉบับประชาชน เสี่ยง 'ตกขบวน' สภา

 รัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดสมาชิกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 ที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นเสนอ 5 ฉบับ กับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ยื่นเสนอ 1 ฉบับ ซึ่งนอนรอในระเบียบวาระพิจารณา วันที่ 23-24 กันยายน 2563 นี้แล้ว

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน ที่ร่วมเข้าชื่อ 100,732 รายชื่อ โดยมี คณะทำงานของไอลอว์เป็นโต้โผนั้น ตามกฎหมายแล้วต้องใช้เวลาพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ก่อนเสนอให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ

แน่นอนว่า วันที่ 23-24 กันยายน นี้ รัฐสภาจะไม่มีโอกาสพิจารณาเพื่อรับหลักการหรือไม่ ในที่ประชุม

​แต่แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน จะไม่ได้รับการพิจารณาในวาระครั้งนี้ แต่หาใช่ว่า เนื้อหาที่ถูกเสนอนั้นจะ “ตกขบวน” เพราะตัวแทนของพรรคฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้วส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย บอกว่า ข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำไปให้กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาประกอบได้

​แต่นั่นเป็นเพียงความคิดเห็นที่ ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดรองรับ หากชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)จะพิจารณาจริง ก็ต้องถกกันในรายละเอียด

  ​สำหรับเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน มีทั้งสิ้น 13 มาตรา เนื้อหาโดยรวม พอสรุปให้เห็นภาพได้ว่า

 

เสนอยกเลิกอย่างเด็ดขาด ไม่นำกลับมาใช้หรือบัญญัติอีก จำนวน 14 มาตรา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ บัญชีนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อำนาจพิเศษของ ส.ว. ต่อการเร่งรัดงานปฏิรูปประเทศ อำนาจคณะรัฐมนตรีต่อการออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ช่องทางนายกรัฐมนตรี​คนนอกโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิด รวมถึงยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศ

  ​ปรับปรุงเนื้อหาเล็กน้อย 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 142 ว่าด้วยการทำงบประมาณที่ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ มาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกฯในสภาฯ ที่ตัดข้อกำหนดให้เลือกบุคคลจากบัญชีของพรรคการเมือง ความมุ่งหมายคือ สื่อถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ” ขาดคุณสมบัติและพ้นจากนายกฯ ทันที และเมื่อต้องเลือกนายกฯ ใหม่ คือเลือกจากส.ส.ในสภาฯ

​ทำให้บุคคลที่เคยถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นนายกฯ

         ​มาตรา 162 ว่าด้วย การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ตัดเงื่อนไข ให้สอดคล้องกับ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ออกจากเนื้อหา และ มาตรา 252 ว่าด้วยข้อกำหนดที่ล็อคให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งร่างเดิมกำหนดเปิดช่องทางอื่นได้ด้วย เพียงแค่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

         ​โละและเขียนใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการและรูปแบบ ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมาตราว่าด้วยส.ว.ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ที่กำหนดให้มี 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.และแก้ไขให้มีส.ว.จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และสัดส่วนส.ว.ในแต่ละจังหวัดให้คำนวณตามสัดส่วนประชากร ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

และกลุ่มมาตราว่าด้วยการโละ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5 องค์กรอิสระ ผ่านการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว., พ.ร.ป.วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ, พ.ร.ป.กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน, พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน และ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มุ่งหวังคือ “เซ็ตซีโร่” กรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน

        

​เมื่อโละองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ชุดใหม่ทันที โดยใช้กระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ร.ป.ที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

        ​และประเด็นสุดท้ายตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน คือ ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

      ​โดยกำหนดสาระสำคัญไว้ คือ 1.ให้มีส.ส.ร.200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 2.ต้องเลือกตั้งภายใน 90 วันนับจากที่ได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกกต.​ชุดใหม่ 3. ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 4.การได้ส.ส.ร.ให้ใช้เกณฑ์คะแนนนิยทั้งประเทศ ที่คำนวณซึ่งได้ผลลัพท์ที่มากกว่าเป็นกฎคัดเลือก 5.ผู้สมัคร ส.ส.ร.กำหนดคุณสมบัติไว้แค่ มีสัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนบ้านในประเทศไทย

          ​ส่วนลักษณะต้องห้ามสมัครเป็น ส.ส.ร. กำหนดไว้ว่า ห้ามเป็น ส.ส., ส.ว. หรือข้าราชการการเมือง, เป็นข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการองค์กรอิสระ ห้ามคนที่เคยถูกคำพิพากษาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุจริตเลือกตั้ง บุคคลที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต และห้ามบุคคลที่ถูกคุมขัง

       ​ทั้งนี้เปิดช่องให้ คนที่ติดยาเสพติด บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง และบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก บุคคลล้มละลาย บุคคลที่ถือหุ้นสื่อ ลงสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้

       ​ขณะที่ระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดไว้ในเนื้อหาว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 360 วันโดยคำนึงถึงความเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ จากนั้นให้เสนอรัฐสภาเห็นชอบทั้งฉบับ โดยไร้สิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนคะแนนเสียงที่ใช้เป็นเกณฑ์เห็นชอบคือ “กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่” แต่ได้รับความเห็นชอบ ให้เข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้

         ​แต่หากเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปทำประชามติ

อย่างไรก็ตามในเนื้อหาของภาคประชาชน ไม่ตรงกันเสียทีเดียวกับร่างของพรรคการเมืองที่บรรจุไว้ในวาระประชุมรัฐสภา แต่เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

 ​ซึ่งตามกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ หลักใหญ่ คือเมื่อ ส.ส.เข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาแล้ว ให้พิจารณาเป็น 3 วาระ โดย คือ วาระแรก รับหลักการ วาระสองพิจารณารายมาตราและวาระสามคือการให้ความเห็นชอบหรือไม่

        ​แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่เป็นรายละเอียด สำคัญ คือ การได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทำให้มีการกำหนดว่าในวาระแรกรับหลักการ ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี่มียอดรวม 738 คน แบ่งเป็นส.ว. 250 คน และส.ส. 488 คน เสียงกึ่งหนึ่งคือ 370 เสียง อย่างไรก็ดีในจำนวนนั้นต้องมีเสียงส.ว.ร่วมเห็นชอบด้วย อย่างน้อย 84 คน หรือ 1 ใน 3 ของส.ว.ที่มีอยู่ปัจจุบัน

       ​ขณะที่รายละเอียดของการพิจารณา วาระแรกนั้น ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 121 กำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหลายฉบับ สามารถลงมติรับหรือไม่รับหลักการ แต่ละฉบับหรือรวมกันก็ได้ แต่เมื่อรัฐสภารับหลักการแล้ว ให้ลงมติว่าจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นหลักพิจารณา ในวาระสอง ทั้งนี้ยังเปิดช่องให้มีการศึกษาเนื้อหา ก่อนรับหลักการ คือ ตั้ง กรรมาธิการพิจารณา ก็ได้

      ​ดังนั้น การประชุมร่วมรัฐสภา จึงต้องจับตาให้ดี โดยเฉพาะการรับฟังเสียงกดดันนอกสภาฯ จากภาคประชาชน ที่ต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพวกเขา ถูกยอมรับและเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา