273 ทหารช่าง ฝ่าโควิด สู่เหรียญเชิดชูเกียรติฯ 'หมายเลข 3'

273 ทหารช่าง ฝ่าโควิด สู่เหรียญเชิดชูเกียรติฯ 'หมายเลข 3'

ยังไม่เคยมี “กองกำลัง” ของชาติใด ที่เคยได้รับ “เหรียญรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” หรือ เหรียญเชิดชูเกียรติองค์การสหประชาชาติ (UN Medal) หมายเลข 3

เฉกเช่น กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย เซาท์ซูดานผลัดที่ 1 จำนวน 273 นาย ภายใต้การนำของ พ.อ.บุรินทร์ ธีระวัฒน์วิศิษฎ์ ผู้บังคับกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจสหประชาชาติไทย

เหรียญเชิดชูเกียรติฯถือเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สากล ซึ่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ โดยทั้งหมดถือว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2531 ที่เป็นเกียรติประวัติสูงสุด และเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่ได้รับ

โดย “เหรียญเชิดชูเกียรติฯ” ประกอบด้วยตัวเหรียญและแพรแถบ ด้านหน้าของตัวเหรียญเป็นลายนูนรูปสัญลักษณ์ของยูเอ็น ด้านหลังมีข้อความว่า “IN THE SERVICE OF PEACE” ส่วนแพรแถบจะมีสีตามสัญลักษณ์ ซึ่งสื่อถึงสิ่งต่างๆ ในภารกิจ UNMISS ประกอบด้วย

สีฟ้า หมายถึง การเข้ามาปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น สีดำ หมายถึง แรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นของประชาชนชาวเซาท์ซูดาน สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินเซาท์ซูดาน และ สีขาว หมายถึง ความหวังที่จะนำพาสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศเซาท์ซูดาน หลังจากการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อให้ได้รับเอกราชและประชาธิปไตย

และเมื่อกองกำลังต่างๆใกล้จบภารกิจ จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติฯ พร้อมทำพิธีประดับเหรียญ UN Medal Ceremony โดยจะมี 3 หมายเลข คือ หมายเลข 1 แม้จะไม่มีหมายเลขกำกับไว้ แต่ก็เป็นที่รับรู้กัน โดยจะมอบให้กองกำลังของชาติต่างๆ ที่เข้าปฏิบัติงานในกองกำลังสหประชาชาติ ครบ 90 วัน

หมายเลข จะติดได้ด้วย 2 กรณี คือ มีการขยายเวลาในภารกิจออกไป อย่างเป็นทางการ หรือ ได้กลับเข้าสู่ภารกิจอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 อย่าง “กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย” ผลัดที่ 1 ถูกขยายเวลา โดยการร้องขอของยูเอ็นจาก 1 ปี เป็น 1 ปี 4 เดือน

หมายเลข 3 จะสามารถขอรับอนุมัติได้ เมื่อได้หมายเลข 2 ไปแล้ว และอยู่ปฏิบัติงานในภารกิจ ต่อไปอีกเป็นเวลา 180 วัน (6 เดือน) จึงจะมีสิทธิ์ขอรับหมายเลข 3 ได้ ซึ่งยังไม่มีกองกำลังใดๆ ของสหประชาชาติ เคยได้รับมาก่อน กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยผลัดที่ 1 เป็นชาติแรก

ในห้วงระหว่าง วันที่ 11 ก.ย.- 1 ต.ค.2563 นี้ กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยเซาท์ซูดานผลัดที่ 1 มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทย หลังปฏิบัติภารกิจยาวนาน 1 ปี 9 เดือน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้สหประชาชาติสั่งระงับและเลื่อนการสับเปลี่ยนกำลังจากเดิมออกไป

 

ปัจจุบัน “โควิด-19” ได้ลุกลามไปยังสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย แม้สถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่าประเทศใกล้เคียง อย่าง สาธารณรัฐซูดาน หรือ อียิปต์ แต่ข้อจำกัดการหมุนเวียนทางการแพทย์ของยูเอ็น และความล้าหลังของระบบสาธารณสุขภายในประเทศ ส่งผลให้ กองร้อยทหารช่างอังกฤษถอนตัวไปก่อนหน้านี้ 

ทั้งนี้ยูเอ็นเริ่มกระบวนการสับเปลี่ยนกำลัง ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยแผนการสับเปลี่ยนกำลังของไทย คาดว่าอยู่ในห้วงวันที่ 11 ก.ย.-1 ต.ค.2563

ขณะที่กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของ ควบคู่ไปกับการต่อสู้กับไวรัส “โควิด-19” ตามแผนพิทักษ์กำลังพลของกองทัพบก และเคร่งครัดตามมาตรการการป้องกันโรคของยูเอ็น ส่งผลให้ ทหารช่างไทย 273 นาย ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ “โควิด-19”

ส่วน “กองทัพไทย” อยู่ระหว่างให้กรมยุทธการ เตรียมความพร้อมประสาน “กองทัพบก” จัดกำลังพลกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยเซาท์ซูดานผลัดที่ 2 พร้อมกำชับปฏิบัติตามมาตรการ “ศบค.” ทุกขั้นตอน รองรับการสับเปลี่ยนกำลังในครั้งนี้

ตามขั้นตอนของ กองทัพไทย กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย เซาท์ซูดานผลัดที่ 2 จะโดยสารเครื่องบินเช่าเหมาลำของยูเอ็น และแวะพักเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติ โบเลอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย เติมน้ำมัน 1 ชั่วโมง โดยไม่ให้กำลังพลลงจากเครื่อง ก่อนจะเดินทางไปยังสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน

เมื่อเดินทางไปถึง กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย เซาท์ซูดาน ผลัดที่ 2 จะต้องเข้าสถานที่กักตัว 14 วัน ก่อนจะปฏิบัติภารกิจ ส่วนผลัดที่ 1 ต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันเช่นเดียวกัน ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับไทย และเมื่อมาถึงแล้วต้องกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้อีก 14 วัน 

จบภารกิจ แห่งความภาคภูมิใจ และปลอดภัยจากโควิด