เลือกตั้งท้องถิ่น 'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' แยกกันเดิน ไม่ร่วมกันตี

เลือกตั้งท้องถิ่น 'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' แยกกันเดิน ไม่ร่วมกันตี

หาก “คณะก้าวหน้า” ลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นจริง ย่อมน่าสนใจ เพราะมี “พรรคก้าวไกล” เป็นฐานสำคัญ

คณะก้าวหน้า กลับมามีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้ง ภายหลัง ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คณะก้าวหน้าเตรียมส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้

“ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมพูดไป มันไม่ใช่แค่มาตรการที่จะทำ มันต้องสู้เรื่องมายาคติ เรื่องวิธีคิดของคนจำนวนมากด้วย คนจำนวนมากมักจะบอกว่า ไม่เอาหรอก ให้อำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่น เพราะเรามีมายาคติชุดความคิดที่ว่าคอร์รัปชัน เลือกตั้งโกง เลือกตั้งท้องถิ่นเท่ากับมาเฟียท้องถิ่น เลือกตั้งท้องถิ่นได้แต่ตระกูลการเมืองท้องถิ่นเข้าไปทำ”

ดังนั้นมันต้องเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ด้วยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้หมายความว่าคอร์รัปชัน การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะหมายความว่าทำเรื่องสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่ที่เขาต้องการได้เอง ดังนั้นคณะก้าวหน้าก็เลยตั้งใจจะมารณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่องนายก อบจ.เราจะส่งแข่งในนามคณะก้าวหน้า” คำสัมภาษณ์ ปิยบุตร เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63

นับเป็นก้าวเดินที่น่าสนใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะการลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น มีเงื่อนไขจำกัดน้อยกว่าการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะการที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ไม่ได้กำหนดผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง เหมือนกับการเลือกตั้งส.ส. เพียงแต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ พ.ร.บ.กำหนด

คณะก้าวหน้า แม้ด้านหนึ่งดูเหมือนจะเป็นคณะบุคคลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่จริง ๆ แล้ว มีรากฐานที่ฝังมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งมีพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายในเรื่องการเมืองท้องถิ่นชัดเจน โดยเฉพาะการวางนโยบายกระจายอำนาจ อันเป็นหนึ่งนโยบายหลักของพรรค และก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบไปนั้น ได้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้สมัครไว้ในบางพื้นที่เช่นกัน

สอดรับกับระยะหลังที่ ‘ปิยบุตร’ ลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด เพื่อพบกับผู้สนับสนุนพรรคมากขึ้น เพื่อเป็นต่อยอดฐานเสียงที่ได้วางเอาไว้มาตั้งแต่แรก และหากคณะก้าวหน้าตัดสินใจลงเลือกตั้งท้องถิ่นจริงย่อมมองข้ามไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่ามีแรงสนับสนุนมาจากพรรคก้าวไกล

ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่า ต่างคนต่างอยู่กับคณะก้าวหน้า แม้จะประกาศเช่นนั้นแต่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว พรรคก้าวไกลประกาศชัดเจนว่า จะไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการหลบให้แก่กัน ป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงฐานเสียงกันเอง เพียงแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะระดม ส.ส.ทั้ง 55 คน ช่วยหาเสียงหรือไม่ หากการเลือกตั้งท้องถิ่นมาถึง แต่ถึงเวลานั้น หากพรรคก้าวไกลสนับสนุนคณะก้าวหน้า ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ย่อมทำให้คณะก้าวหน้ามีความน่าเกรงขามในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นไม่แพ้กับพรรคการเมืองใหญ่

ในประเด็นนี้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าพรรคก้าวไกลกับคณะก้าวหน้า เชื่อมโยงกันด้วยอุดมการณ์มาตั้งแต่ดำเนินการทางการเมืองในนามพรรคอนาคตใหม่ แต่เวลานี้พรรคก้าวไกลขอเน้นการทำงานในสภาเป็นหลัก 

และหากมีการเลือกตั้งในอนาคต จะเน้นการส่งผู้สมัคร ส.ส.เพื่อทำงานการเมืองระดับประเทศเท่านั้น ส่วนการดำเนินการของคณะก้าวหน้าในการส่งผู้สมัครลงท้องถิ่น ก็ถือเป็นสิทธิที่ดำเนินการตามกฎหมายได้

 

“ยืนยันว่า การดำเนินการเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ในทางกลับกันแล้วคณะของคุณธนาธร และอาจารย์ปิยบุตร ควรจะได้ทำงานในสภา แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องทำงานการเมืองด้านอื่นแทน อย่างการส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น”

สำหรับข้อสงสัยว่า หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว ส.ส.พรรคก้าวไกล จะช่วยหาเสียงหรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นมาก่อน แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาล ทำให้พรรคก้าวไกลต้องเน้นการทำงานการเมืองระดับประเทศก่อน เพราะอีกด้านหนึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ดังนั้น พรรคก้าวไกลก็ต้องทำงานในสภาเช่นกัน

“ที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่าคุณธนาธรและอาจารย์ปิยบุตร ไม่ได้เข้ามาครอบงำการทำงานของพรรคก้าวไกล ต่างฝ่ายต่างมีอิสระต่อกัน เราเป็นเพื่อนกันตรงนี้ไม่ปฏิเสธ” ปดิพัทธ์ กล่าวสรุป

จากนี้ต้องรอดูว่า เมื่อพรรคก้าวไกลประกาศไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น และขอมุ่งไปที่เลือกตั้งใหญ่ เหมือนแยกกันเดิน แต่ไม่ร่วมกันตีกับคณะก้าวหน้าแล้ว ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นใจแก่คณะก้าวหน้าหรือไม่