'หม่อมเต่า' ราชนิกุล ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ

'หม่อมเต่า' ราชนิกุล ผู้ยอมหักไม่ยอมงอ

พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ รปช. ประกาศตัวเองมาตลอด ว่าเป็นพรรคเลือดสีน้ำเงิน ซึ่งตลอดเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง ก็อาศัยความเป็นอนุรักษนิยมมาเป็นจุดขายตลอด 

 สัญลักษณ์หนึ่งที่ทำให้เลือดสีน้ำเงินของพรรคชัดเจน คือ การมีหัวหน้าพรรคที่ชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล 

โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า “หม่อมเต่า” ราชนิกุลคนหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถที่เรียกได้ว่าเป็นอีลีทปัญญาชน

ครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ส.ค.2561 ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ แกนนำพรรคนสำคัญและเป็นแคนดิเดตตำแหน่งหัวหน้าพรรค เคยโพสต์เฟซบุ๊คระบุถึงเหตุผลที่หม่อมเต่าเหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ ว่า 

"หม่อมเต่า นั้น เป็นมือเศรษฐกิจระดับชาติและนานาชาติครับ บัดนี้พรรค รปช. พร้อมจะเป็นรัฐบาลมากขึ้นอีก ท่านจะพา “กูรู” เศรษฐกิจมาเข้าพรรค คนเหล่านี้จะมาประสานกับ ”ปราชญ์ชาวบ้าน” และนักคิด-นักปฏิบัติ “ศาสตร์พระราชา รวมทั้งเศรษฐกิจภาค “ครัวเรือน” และ เศรษฐกิจ “ภาคประชาชน” ที่มีอยู่แล้วภายในพรรค ร่วมกันทำให้ “ปากท้อง” ของประชาชน ทุกภาค ทุกพื้นที่ดีขึ้นได้ อย่างยั่งยืนแน่นอน

"หม่อมเต่า จบการศึกษาขั้นสูงจากสถาบันระดับโลกคือ “เคมบริดจ์” ของอังกฤษ และ “ฮาร์วาร์ด” ของอเมริกา และทุกวันนี้ก็ติดตามเรียนรู้จีน อีกมหาอำนาจโลก ไม่หยุดยั้ง...”

“แต่ท่านไม่ใช่ “อินเตอร์” ดิบๆ ท่านรู้”เมืองไทย”เป็นอย่างดี รับราชการเป็นอธิบดีหลายกรมและสุดท้ายเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ท่านรับราชการใช่เป็นเพื่อลาภยศตำแหน่ง เมื่อขัดแย้งกับรัฐบาลในประเด็นที่ท่านเห็นว่าผลประโยชน์ของชาติกำลังจะเสียหาย ก็กล้าคัดค้าน และกล้าลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่มาก"

“ด้วยสถานะและประสบการณ์อย่างนี้ ผมคิดว่า “หม่อมเต่า” พร้อมจะเป็นได้ถึงนายกรัฐมนตรี ...คนอย่าง “หม่อมเต่า” นั้น เป็นนายกรัฐมนตรีได้ในทุกแบบ ทุกสถานการณ์ ครบเครื่อง เลยครับ”

หม่อมเต่า ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในประเภท ยอมหักไม่ยอมงอ ครั้งหนึ่งสมัยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังในยุครัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนถูกย้ายมาประจำสำนักนายกฯ แต่หม่อมเต่าอารยะขัดขืนด้วยการลาออกจากราชการ

 ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย การทำงานของ ธปท.กับฝ่ายบริหารไปด้วยกันได้ดี เพราะทั้งผู้ว่าฯธปท.และ นายกฯชวนต่างมีความเป็นอนุรักษนิยมทั้งคู่

แต่มาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ความคิดและนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล ต่างกับแนวคิดของหม่อมเต่าอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลทักษิณต้องการให้ ธปท.ทบทวนนโยบายดอกเบี้ย เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้สินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น แต่หม่อมเต่าในฐานะอดีตผู้บริหารกระทรวงการคลังที่ผ่านเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง

เมื่อรัฐบาลทักษิณที่มีความเป็นเสรีนิยม มาปะทะกับผู้ว่าฯ ธปท.ที่ยืนอยู่บนหลักการอนุรักษนิยม แน่นอนว่าย่อมไปด้วยกันไม่ได้ รัฐบาลทักษิณปลดหม่อมเต่าออกจากตำแหน่ง จนเป็นที่มาของการออกกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงการทำงานของผู้ว่าฯ ธปท.

เส้นทางชีวิตฉบับย่อ ของราชนิกุลผู้นี้ นอกจากจะยอมหักไม่ยอมงอแล้วยังไม่ยอมก้มหัวให้ใครด้วย ซึ่งหลักการนี้ยังมีอยู่ในตัวของหม่อมเต่าอย่างเต็มเปี่ยมมาถึงทุกวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้พรรค รปช.จะมี ส.ส.5 คน แต่การได้โควตา รมว.แรงงาน ย่อมเป็นตำแหน่งที่ทรงคุณค่าเช่นกัน เพราะเป็นกระทรวงที่ควบคุมดูแลเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งง่ายต่อการสร้างผลงานให้กับพรรค เพราะต้องไม่ลืมว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นหนึ่งในคนกลุ่มใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 

แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนกันว่าพรรค รปช.จะทิ้งโอกาสนี้ไป โดยเฉพาะความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ต้องออกจากงานช่วงโควิด-19

ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคต่างรู้ถึงปัญหานี้ดี แต่การจะสื่อสารไปถึงหม่อมเต่าทำได้ยาก และเมื่อหม่อมเต่าเป็นคนที่ไม่ยอมให้ใครมาสั่งได้ง่ายๆ จึงเลือกการลาออก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจบกันด้วยดี 

ปิดฉากผู้สัญลักษณ์ของพรรคสีน้ำเงิน เพื่อดัน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคคนใหม่แทน

จากนี้ไปอนาคตของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ผลัดใบจากผู้ที่เป็นราชนิกุล มาเป็นปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลทางความคิดทางการเมือง น่าสนใจอย่างยิ่ง