'เกณฑ์ทหาร' ย้อนหลัง 7 ปี 'ทหารเกณฑ์' ประเทศไทย มีเท่าไหร่

'เกณฑ์ทหาร' ย้อนหลัง 7 ปี 'ทหารเกณฑ์' ประเทศไทย มีเท่าไหร่

ย้อนดูอัตราความต้องการ "เกณฑ์ทหาร" เข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการของชายไทยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับหลากหลายมุมมองของความเป็น "รั้วของชาติ"

ตอนนี้ ประเด็นเรื่องของ เกณฑ์ทหาร กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังการประชุมสภากลาโหมก็มีมติ เลื่อนกำหนด การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการ ปี 2563 หรือ เกณฑ์ทหาร 63 ออกไปเป็นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-23 สิงหาคม 2563 แทน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยเลื่อนการตรวจเลือกทหารมาแล้วจากวันที่ 1-11 เมษายน เป็นวันที่ 16-26 เมษายน 2563 มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" 

โดยในการคัดเลือก ทหารเกณฑ์ ครั้งหน้านั้น ใช้สถานที่เหมาะสมการดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การดำเนินการกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น มาตรการการตรวจเลือกที่ต้องเว้นระยะ และยืดเวลาการตรวจเลือกฯ ออกไป พร้อมเพิ่มเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น ลดความแออัด เปิดพื้นที่โล่ง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การเลื่อนเกณฑ์ทหาร ยังส่งผลกระทบต่อกำลังพลในสังกัดกระทรวงกลาโหมทำให้ขาดกำลังพลจำนวน 1 ใน 4 จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ทหารกองประจำการที่กำลังจะปลดประจำการในเดือนเมษายนนี้ รับราชการต่อ โดยจะให้สิทธิสมัครเป็นนักเรียนนายสิบ และเป็นนายสิบ แทน

สำหรับยอดทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการที่เหล่าทัพต้องการในปีนี้นั้นมีจำนวน 97,324 คน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ประมาณ 4,500 คน เนื่องจากมียอดของทหารที่ยังอยู่ในประจำการเหลื่อมปีอยู่จำนวนหนึ่ง

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขของทหารเกณฑ์ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา จะพบว่า สัดส่วนของการ "เกณฑ์ทหาร" ในแต่ละปีนั้นมากน้อยต่างกันราว 1-6 พันนาย ดังนี้

ปี 2556 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 94,480 นาย

ปี 2557 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 100,865 นาย

ปี 2558 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 99,379 นาย

ปี 2559 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 101,307 นาย

ปี 2560 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 103,097 นาย

ปี 2561 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 104,734 นาย

ปี 2562 กองทัพต้องการทหารเกณฑ์ 101,824 นาย

158531190454

สำหรับจำนวนกำลังพลในกองทัพไทยนั้น บีบีซีไทย เคยรายงานอ้างถึง นิคเคอิ เอเชียน รีวิว ที่ระบุถึงงานวิจัยเมื่อปี 2558 ของ พอล เชมเบอร์ส นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพไทย พบว่า ไทยมีทหารประจำการอยู่ 306,000 นาย และทหารกองหนุน 245,000 นาย รวมเป็น 551,000 นาย คิดเป็น 0.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในรายงานดังกล่าวยังให้รายละเอียดอีกว่า ทหารไทยเกษียณอายุตอน 60 ปี เช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่นๆ

ขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้เผยแพร่รายงานเชิงสืบสวนที่ใช้ชื่อว่า "เราก็แค่ของเล่นของพวกเขา" การละเมิดสิทธิทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย" ซึ่งพูดถึง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อทหารกองประจำการ หรือ ทหารเกณฑ์ ในกองทัพไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เนื้อหาในรายงานดังกล่าวระบุว่า พลทหารต้องเผชิญกับพฤติกรรมความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ

ที่ผ่านมา การเกณฑ์ทหาร เป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในทางปฏิบัติพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดหน้าที่นี้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน โดยที่ชายไทยทุกคนจะเริ่มเป็นทหารกองเกินนับแต่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

ทหารกองเกินอาจถูกเรียกไปรับการตรวจเลือกเพื่อเข้ากองประจำการได้เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ทหารกองเกินเมื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการครบกำหนด หรือสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด หรือมีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุน

เมื่อเวลาผ่านไปหรืออายุครบตามที่กำหนดทหารกองหนุนก็จะถูกปลดพ้นราชการทหาร ในระหว่างที่เป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนนั้น อาจถูกเรียกพลได้ตามที่กระทรวงกลาโหมเห็นสมควร และอาจถูกระดมพลได้หากมีพระราชกฤษฎีกา

158531192520

  • หน้าที่ของชายไทยที่จะต้องเกี่ยวกับการรับราชการทหาร

1. การรับหมายเรียก (การรับหมายเกณฑ์) ทหารกองเกินทุกคนเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ.ใดต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น

2. การเข้ารับการตรวจเลือก (การเข้าเกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเกณฑ์ทหารตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเรียก

3. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อมีหมายเรียกพล (เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม) จะต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึก หรือทบทวนวิชาทหารให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ