ครม.ไฟเขียว วธ.เสนอ 'โนรา' ขึ้นบัญชีมรดกโลก

ครม.ไฟเขียว วธ.เสนอ 'โนรา' ขึ้นบัญชีมรดกโลก

ครม. อนุมัติกระทรวงวัฒนธรรม เสนอ "โนรา" ขึ้นบัญชีมรดกโลกต่อยูเนสโก หลัง "โขน" ได้รับการพิจารณาไปแล้ว

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอโนราให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติ ต่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ "ยูเนสโก" ภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอ โขน และนวดไทยขึ้นบัญชีในรายการดังกล่าวไปแล้ว โดยโขนได้รับการขึ้นบัญชีแล้ว ส่วนนวดไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาภายในปีนี้

สำหรับส่วนของโนรา เอกสารดังกล่าวได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามที่ยูเนสโกกำหนด และให้พิจารณาโดยมีสาระสำคัญคือ ชื่อของการนำเสนอ ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand หรือ โนรา แดนซ์ ดราม่า เซาท์เทิร์น ไทยแลนด์ รวมถึงชื่อชุมชน คณะ กลุ่มบุคคล ปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งประเทศไทย มีสายตระกูลหลักที่สืบทอดโนรา 5 สาย ทั้งสายโนราพุ่มเทวา / สายโนราแปลกท่าแค / สายโนราแป้นเครื่องงาม / สายโนราห์เติมวินวาด และโนรายกทะเลน้อย 274 คณะ ใน 4 จังหวัดลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา

ทั้งนี้ ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 โดย “โขน” เป็นรายการแรกของไทยที่ได้รับการประกาศให้ขึ้นบัญชีเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2561 ส่วน “นวดไทย” อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีภายในปี 2562 ส่วน “โนรา” จะเข้าสู่การพิจารณาขึ้นบัญชีในรอบปี 2563 สำหรับเหตุผลที่นำเสนอ โนรา เนื่องจากเป็นศิลปะการแสดงการร่ายรำที่มีชีวิตงดงามขับร้องโดยใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ พร้อมกับดนตรีประกอบจังหวะที่เร้าใจ และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรประณีต มีรากสืบทอดมาจากความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนในภาคใต้ ซึ่งผู้สืบเชื้อสายโนราจะรวมตัวกันเพื่อบวงสรวง เซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือบรรพบุรุษ และเพื่อขจัดปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย พิธีกรรมโนรานั้นเป็นการเชื่อมต่อชุมชนกับบรรพบุรุษ และสืบทอดโนรารุ่นใหม่รวมถึงรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับบุคคลและชุมชนและช่วยอำนวยอวยพรให้แก่ผู้เข้าร่วมพิธี

ปัจจุบันพบว่าโนรามีการสืบทอดศิลปะการแสดงจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัดและพัฒนาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาระดับต่างๆจากข้อมูลของนักวิชาการพบว่า มีสายตระกูลหลัก 5 สายที่สืบทอดโนราในพื้นที่ภาคใต้ของไทย 1 สายโนราพุ่มเทวา 2.สายโนราแปลก ท่าแค 3. สายโนราแป้น เครื่องงาม 4.สายโนราเติม-วิน-วาด และ 5. สายโนรายก ทะเลน้อย โดยสายตระกูลโนราทั้ง 5 สายสืบทอดความรู้และทักษะมาจาก 12 สายตระกูลในอดีตและจากการสำรวจพบว่า คณะโนราอาชีพในประเทศไทยมี 387 คณะ โดย 278 คณะหรือประมาณ 70% อยู่ใน 4 จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางขนบประเพณีโนรานอกจากนั้นยังมีกลุ่มคณะนักแสดงสมัครเล่นและคณะเยาวชนโนรากระจายอยู่ทั่วไปตามสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดทางภาคใต้

สำหรับคุณสมบัติของโนรา ได้ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกในข้อต่างๆ อาทิข้อที่ 1.สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 อนุสัญญาฯ เนื่องจากโนราเป็น การแสดงออกทางมุขปาฐะ ศิลปะการแสดง การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม โดยเป็นศิลปะการแสดงที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าฝึกทักษะการแสดงได้ โดยมีการไหว้ครูเป็นขนบจารีตที่สำคัญข้อที่ 2 การขึ้นบัญชีเรื่องที่นำเสนอเป็นคุณประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ รับรู้ถึงความมีอยู่ของโนราท่ามกลางมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลายและร่วมชื่นชมในภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ได้ปฏิบัติและแสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน และช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคต่างๆได้เข้ามาใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงและแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น เป็นต้น