อดีตปธ.ศาลฎีกา-พระไพศาล ชี้แก้ยาบ้าระบาด นักโทษล้นคุกที่6โลก

อดีตปธ.ศาลฎีกา-พระไพศาล ชี้แก้ยาบ้าระบาด นักโทษล้นคุกที่6โลก

ฉะนโยบายฯทำนักโทษล้น "อดีตปธ.ศาลฎีกา-พระไพศาล" เสนอทางแก้ยาบ้าระบาด หลังนักโทษล้นคุกติดอันดับ6ของโลก ชี้จับได้แค่แมลงสาบ เจ้าของยาตัวจริงไม่เคยถูกจับ ย้ำแก้ให้ใช้กระท่อม-กัญชาได้แต่ควบคุม

ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ -2 ต.ค. 60 สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดการประชุมเรื่อง “โลกาภิวัฒน์ ทุนนิยมสุดโต่ง การเสพติด ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ปัญหาและทางออก” เพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยปรากฎข้อมูลว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้เรือนจำเพื่อควบคุมปัญหายาเสพติด ชนิดเมทแอมเฟตามีนมากเกินไปจนเกิดปัญหาคนล้นคุก ส่งผลให้ไทยมีอัตราส่วนประชากรกับผู้ต้องขังสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก ไทยมีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ 21 ของโลก แต่จำนวนผู้ต้องขังกลับสูงเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 1 ของ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยมีผู้ต้องขัง 308,083 ราย และ 70% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด หากจะมองว่าที่มาของปัญหายาเสพติดมาจากทุนนิยมสุดโต่ง ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ จะพบว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก 2,145,100 คน โดยมีประชากร 322.3 ล้านคน น้อยกว่าจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน แต่มีผู้ต้องขัง 1,649,804 คนในสังคมทุนนิยมสุดโต่ง คนที่รวยจะยิ่งรวยขึ้น ส่วนคนจนจะจนลงเรื่อยๆ สะท้อนได้จากการลงทะเบียนคนจน ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนถึง 14.1 ล้านคน คิดเป็น 20% และในปี 60 ประชากรมีหนี้ครัวเรือน 78.6 ต่อจีดีพี

นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ยิ่งเติบโตทำให้สังคมยิ่งมีปัญหา กระแสทุนนิยมและการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมักควบคู่มากับความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการเสพติดจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะภาวะการเสพติดไม่ได้จำกัดแค่ยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่มีการเสพติดหลายประเภท เช่น เสพติดการพนัน เสพติดของแบรนด์เนม เสพติดการเล่นเกม เสพติดความรุนแรง เป็นต้น ทั้งศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นหนทางที่ใช้แก้ปัญหา เพราะปรัชญานี้สอนให้คนรู้จักคิด รู้จักวางแผน และรู้จักคำว่าพอเพียง ซึ่งจะทำให้คนใมนสังคมมีความตระหนักรู้และรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ตลอดจนการป้องกันปัญหาต่างๆที่มาจากการเสพติดและการใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบสุดโต่ง

ด้านนายวีระพล ตั้งสุวรรณ อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำ บางคนไม่จนแต่รวยไม่พอ บางคนรวยล้นฟ้า ความแตกต่างเหลื่อมล้ำทำให้คนอยากรวยทางลัด เราจัดให้ความผิดยาเสพติดเป็นอาญา 50 ปีผ่านไปหลังจากยกเลิกการจำกัดฝิ่นโดยอนุญาตให้สูบในโรงฝิ่น ยาเสพติดไม่ลดลง โจทย์ที่ต้องแก้คือเราสามารถควบคุมปริมาณยาเสพติดได้หรือไม่ เราสามารถแยกพื้นที่ระหว่างคนที่เสพยากับคนทั่วไป ให้เหมือนกับการแยกพื้นที่สูบบุหรี่ได้หรือไม่ ถ้าเราปล่อยให้การเสพไม่เป็นความผิดอาญา สังคมจะรู้สึกอย่างไร โดยผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องแยกออกเป็น 4 กลุ่ม. 1 ผู้เสพเพื่อหย่อนใจ ใช้ยาเป็นบางโอกาส 2.ผู้ติดอยู่ในภาวะพึ่งพายาเสพติด คือคนที่ถูกจับฐานมียาเสพติดในครอบครอง 3. ผู้จำหน่ายให้กับพรรคพวกหรือผู้ค้าระดับล่าง ซึ่งถูกจับกุมลงโทษมากที่สุด และ 4. องค์กรผลิตและลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการค้ายาเสพติดระดับบน

"นักค้าที่ถูกจับเป็นเพียงผู้ขนไม่ใช่เจ้าของยาเสพติดตัวจริง นักค้ารายย่อยเป็นแมลงสาบ หรือเป็นสาขาจำหน่ายให้รายใหญ่ ผมกล้าพูดว่าเราไม่เคยจับกุมนักค้ารายใหญ่หรือเจ้าของแหล่งผลิตได้เลย การกวาดจับทำให้ยาเสพติดยิ่งแพงขึ้น จนคนกลุ่มหนึ่งพร้อมจะกระโดดเข้ามาขายยาเสพติดเพื่อสร้างความร่ำรวย ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนนโยบายยาเสพติดที่เราเดินตามแบบสหรัฐอเมริกามาตลอด เพราะสหรัฐก็ไม่สามารถเอาชนะยาเสพติดได้ ปัจจุบันหลายมลรัฐยอมให้เสพกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้กัญชาใต้ดินลดลง หลายประเทศยอมถอย เลิกทำสงครามยาเสพติด ส่วนไทยท่องจำมาตลอดว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่ถ้าผู้ป่วยครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ด ถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย" นายวีระพล กล่าว

อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวด้วยว่า ในการยกร่างกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับตรรกะของการทำให้เป็นความผิดอาญาสำหรับผู้เสพควรมีอะไรบ้าง คนเสพยาบ้าทำร้ายสังคมอย่างไร เพราะการเสพยาบ้าแล้วขับรถมีโทษสูงกว่าดื่มสุราแล้วขับรถ ความเข้าใจปัญหายาเสพติด จึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในสังคมไทย ถ้าไม่เข้าใจแล้วไปกำหนดนโยบาย จะยิ่งซ้ำเติมสภาพปัญหา แต่เวลานี้การทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ซื้อขายได้โดยมีกฎหมายควบคุม อาจสุดโต่งเกินไป แนวทางที่พอจะเป็นไปได้คือการให้เสพได้บ้าง โดยกระท่อมมีแนวโน้มต้องถอดออกจากบัญชียาเสพติด และอาจขยายไปถึงกัญชา

นายวีระพล กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่ทำให้เป็นความผิดทางอาญาจนเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก ต้นทุนยาบ้าเม็ดละ 50 สตางค์ รางวัลนำจับเม็ดละ 2-3 บาท ราคาขายเม็ดละ 200 บาท แรงจูงใจในการขายและจับ ส่งผลให้ภาระตกหนักอยู่ที่ศาลซึ่งทำหน้าที่ตั้งรับ ไม่ว่าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจะออกกฎหมายมาอย่างไร ศาลต้องหลับตาใช้ไป แต่ก็ได้สะท้อนความเห็นจนทำให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษขั้นต่ำได้ เช่น กรณีการนำเข้ายาบ้า จากลาว 1 เม็ดครึ่ง พิพากษาตามกฎหมายเก่า จำเลยต้องติดคุก 33 ปี หลังการแก้ไขกฎหมายทำให้สามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำหลังจำคุก 3-4 ปี

ด้านพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าวว่า โลกาภิวัฒน์ทำให้ยาเสพติดและเงินจากการค้ายาเสพติดถูกโยกย้ายได้สะดวกขึ้น ทุนนิยมสุดโต่งและค่านิยมเห็นแก่เงิน ทำให้คนพร้อมจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายยาเสพติด คนจนถูกชักจูงให้มาเป็นผู้ค้า วิธีการแก้ปัญหายาเสพติดที่ขาดศาสนธรรม ทำให้เจ้าหน้าที่คอรัปชั่น มีการยัดยา ทรมาน ฆ่าตัดตอน หรือหลอกล่อให้รับสารภาพ แต่การแก้ปัญหายาเสพติดจะใช้ศาสนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับหลักวิชาการ เพราะยาเสพติดจะแก้ไขด้วยการให้ทำสมาธิ เทศนาอบรมเพียงลำพังไม่ได้ ยังต้องมีกลไกทางสังคม ครอบครัว และมาตรการควบคุมอื่นๆด้วย

"การเสพติดสร้างสุขชั่วคราวแต่เป็นทุกข์ยั่งยืน เราควรช่วยกันชี้นำให้คนในสังคมแสวงหาความสุขในด้านอื่นๆ อย่าให้กระบวนการแก้ปัญหาทำให้ปัญหาลุกลาม เหมือนคนป่วยมะเร็งที่ต้องเสียชีวืตเพราะการรักษาผิดวิธี ในสหรัฐเคยห้ามขายเหล้า จนเกิดภาวะโจรเต็มเมือง แก๊งอัลคาโปนมีกองกำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ คนที่ต้องการดื่มก็หันไปหาเหล้าเถื่อน แต่เมื่อสหรัฐเปิดให้ขายเหล้าโดยมีกฎหมายควบคุมปัญหาก็ลดลง ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหายาเสพติดต้องไม่ใช่การซ้ำเติม และต้องไม่ใช้ศาสนธรรมแบบสุดโต่ง" พระไพศาลกล่าว