'อมร' ชม 'กกต.' ออกกฎประชามติ 8 ข้อ

'อมร' ชม 'กกต.' ออกกฎประชามติ 8 ข้อ

“อมร” ชม กกต. ชัดเจน ออกหลักเกณฑ์ "ทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อ" เชื่อไร้ปัญหา ชี้ ก.ม.เปิดช่องให้ฟ้องคืนคนแจ้งความเท็จได้

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกหลักเกณฑ์ในแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อว่า แม้ไม่มีกฏเหล็กดังกล่าวก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อะไรควร อะไรไม่ควรทำ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีข้อห้ามหลายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ กกต.ได้กำหนดเป็นข้อๆว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก ดังนั้นง่ายๆ ก็ขอให้ถามใจตัวเองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสุจริตตามหลักวิชาการก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะถือเป็นการวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ แต่ถ้ามีจิตมุ่งร้าย อาฆาตพยาบาท และหวังผลที่จะก่อให้เกิดปัญหา การใช้วาจาหยาบคาย ด่าทอก็อาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งได้ จึงขอให้พึงระวัง

เมื่อถามว่า กกต.เปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการกระทำผิดสามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ โดยที่ไม่ต้องร้องผ่าน กกต.นั้นจะทำให้มีปัญหาในเรื่องการตีความหรือไม่ นายอมร กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะการรับแจ้งความเป็นอำนาจของตำรวจอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีเงื่อนไขใดไม่ให้ตำรวจรับแจ้งความ หากเป็นเรื่องความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งโดยปกติหากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าตามกฏหมายอาญาทั่วไปก็สามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่

ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่านี่อาจจะเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการตีความเพื่อเอาผิดคนที่เห็นต่างนั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมี
ปัญหา เพราะโดยหลักแล้ว หากการแจ้งความเป็นเท็จ ผู้ที่ไปแจ้งความก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะกฏหมายได้เปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการฟ้องร้องคืนได้อยู่แล้ว