พ.ร.บ.อุ้มหาย...ที่พึ่ง 'เหยื่อ' (เผานั่งยาง)

พ.ร.บ.อุ้มหาย...ที่พึ่ง 'เหยื่อ' (เผานั่งยาง)

รายงาน พ.ร.บ.อุ้มหาย...ที่พึ่ง "เหยื่อ" (เผานั่งยาง)

กรณีค้นพบ “สุสานเผานั่งยาง” ซึ่งมีจุดเผานั่งยาง 23 จุด ในเขตป่าบ้านคำบอนเวียงชัย อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบหลักฐานและกลุ่มบุคคลสูญหาย เพื่อสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุอยู่ในขณะนี้นั้น แสดงให้เห็นว่า “การอุ้มหาย” ในประเทศไทยมีจริงและมีมานานแล้วด้วย

ตัวอย่างที่มีให้เห็นมาแล้ว ก็คือ คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย

“อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นผู้หนึ่งที่ต้องสูญเสียสามีไปจากการถูกอุ้มหาย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนถูกอุ้มหาย มีมานานแล้ว เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย ทำให้ปัญหาคนถูกอุ้ม บังคับให้สูญหายเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ

"การอุ้มหาย ส่วนมากผู้เกี่ยวข้องจะเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ”หรือเป็นคนของรัฐ หรือโดยการสั่งการของรัฐ และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะต้องมีกลไกพิเศษในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายว่าการสืบสวน การติดตามผู้สูญหายจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ถูกแทรกแซง โดยในงานวิจัยที่ผ่านมา 90 % ของการอุ้มหายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นถ้ายังไม่มีกลไกที่เป็นอิสระและตรวจสอบได้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบบุคคลที่สูญหาย ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะให้ยุติคดี ยุติการสืบสวน เมื่อสืบสวนสอบสวนไปครบ 1 ปีแล้ว ไม่พบตัว ซึ่งทำให้ไปไม่ถึงคนทำผิด สำหรับกรณีจังหวัดอุดรธานีเรื่องคนหายมีมาตั้งแต่สงครามยาเสพติด มีการร้องเรียนมานานมากแล้ว ว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งหายตัวไปจนกลายเป็นวัฒนธรรม เหมือนเป็นการง่ายมากที่เอาคนๆหนึ่งไป แล้วอำพรางคดีทำลายศพ โดยไม่ต้องรับผิด กระดูกก็ไม่ต้องกลบ กรณีจังหวัดอุดรฯต่อเนื่องอุกอาจมาก มองว่าเรื่องนี้จะยุติได้โดยเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความเป็นธรรม สืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ"

สำหรับเรื่องคนถูกอุ้มหาย นับว่าเป็นปัญหาใหญ่และมีมานานสำหรับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะเอาผิดกับคนที่ทำการ“อุ้ม” หรือมีส่วนรู้เห็นกับการอุ้ม ในขณะที่กฎหมายอาญาของเราก็มีช่องโหว ไม่มีบทบัญญัติเอาผิดกับการกระทำในลักษณะ “อุ้มหาย” มีแต่ความผิดใกล้เคียง เช่น ข่มขืนใจผู้อื่น, กักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น ซึ่งฐานความผิดเหล่านี้มีโทษเบา

ด้วยเหตุนี้ การมีกฎหมายเฉพาะสำหรับเอาผิดกับบุคลที่กระทำการทรมานหรือบังคับบุคคลอื่นให้สูญหาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งคือ “ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ...” และได้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไป 1 ปี ยังไม่มีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช. ) ซึ่งถือว่าค่อนข้างล่าช้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยเราได้ไปลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จึงต้องมีการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ การมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงเป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล

สำหรับในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้นิยาม “การทรมาน” ให้หมายความว่า การกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม เพื่อการลงโทษบุคคลนั้น

ส่วน "การบังคับบุคคลให้สูญหาย" หมายความว่า การจับกุม คุมขัง ลักพา หรือ กระทำการด้วยประการใดที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายต่อบุคคลซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งการสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น

และ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ทั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ,ข้าราชการ,ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น

ที่สำคัญ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ให้นิยาม “ผู้เสียหาย” ว่า นอกจากจะเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหายแล้ว ยังให้รวมถึง พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยาของบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่บุคคลนั้นถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายด้วย

เพราะที่ผ่านมา อย่าง “คดีอุ้มทนายสมชาย” ศาลไม่อนุญาตให้นางอังคณา เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่ฟ้องตำรวจ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย โดยเห็นว่านางอังคณา ซึ่งเป็นภรรยาไม่ใช่ “ผู้เสียหาย” เพราะยังไม่ปรากฏว่า นายสมชาย มีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ถ้ามีร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ญาติของผู้ถูกอุ้มหายหรือแม้กระทั่งไม่ใช่ญาติ แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่บุคคลนั้นถูกทรมานหรืออุ้มหาย ถือว่าเป็น“ผู้เสียหาย” สามารถดำเนินคดีได้

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังกำหนดโทษหนักสำหรับผู้กระทำผิด โดยในมาตรา 5 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี ส่วนในกรณีผู้ถูกทรมานเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 6 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 -15 ปี ส่วนในกรณีผู้ถูกบังคับให้สูญหายเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุก 15 -30ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต

นั่น...เป็นกรณีผู้กระทำผิดเป็น“เจ้าหน้าที่รัฐ”

แต่ถ้าผู้กระทำไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ มาตรา 7 บัญญัติว่า ผู้ใดไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการทรมาน โดยการยุยง โดยความยินยอม หรือ โดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีโทษตามมาตรา 5

ส่วนวรรคสองของมาตรา 7 บัญญัติว่า ผู้ใดไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยได้รับคำสั่ง โดยการสนับสนุน หรือ โดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีโทษตามมาตรา 6

นอกจากนี้ยังมีการเอาผิดกับ “ผู้บังคับบัญชา” ที่ทราบหรือจงใจเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ได้รับว่า“ ผู้ใต้บังคับบัญชา” ของตนกำลังจะกระทำหรือได้กระทำการทรมานบุคคลอื่นหรือบังคับบุคคลอื่นให้สูญหาย และไม่ดำเนินการเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษครึ่งหนึ่ง ของความผิดตามมาตรา 5 หรือ มาตรา 6 แล้วแต่กรณี

ส่วน “อายุความ” ในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการทรมานบุคคลอื่นหรือบังคับบุคคลอื่นให้สูญหาย มีอายุความ 20 ปี และอายุความจะไม่เริ่มนับหนึ่งจนกว่าจะรู้ที่อยู่และชะตากรรมของผู้เสียหาย เช่น กรณีจังหวัดอุดรฯ มีการพบชิ้นส่วนกระดูกว่าเป็นใคร อายุความจึงจะเริ่มนับหนึ่ง ทั้งที่การ “เผานั่งยาง” อาจจะเกิดมาแล้วเป็น 10 ปี ก็ตาม ซึ่งต่างจาก“ อายุความ” ในคดีทั่วไป ที่เริ่มนับหนึ่งนับแต่วันกระทำความผิด

และ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการ” ขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการสืบสวน การทำคดีของเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามช่วยเหลือบุคคลที่ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหาย และยังกำหนดว่า ในคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูุญหายหรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย ดังนั้นจะทิ้งคดีหรือยุติคดีกันง่ายๆไม่ได้

“ กรณี ”คุกลับ“ ที่มีการนำตัวคนไปควบคุมไว้ยังสถานที่ใดที่หนึ่งแล้วไม่แจ้งญาติ ก็เข้าข่ายความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายด้วย และแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคง ก็ไม่สามรถนำมาอ้างเพื่อบังคับบุคคลให้สูญหายได้ อีกทั้งความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ ”

นับจากนี้ คงต้องจับตาดูว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะคลอดออกมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช.