ส.ต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง

ส.ต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง ชี้อย่าเห็นแก่เงิน จนลืมพื้นที่อัตลักษณ์ของชาติ

แถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน คัดค้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง อย่าเห็นแก่เงินจนลืมพื้นที่อัตลักษณ์ของชาติ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานผลการศึกษาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งเสนอโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)(อพท.) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วมีรายงานเล็ดลอดออกมาว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจังผ่านการให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ถึงขนาดหลุดคำพูด   ว่ามีผู้เห็นด้วยถึง 99.99% นั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านผลการศึกษาและนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ที่มีแต่ผลงานหรือโครงการที่เป็นเลิศในการสร้างปัญหาให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการทวงคืนผืนป่า ที่ไปเลือกตัดเฉพาะตนยางพาราของคนยากจน โครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่เอาผืนป่าและที่ดินชาวบ้านไปให้นักลงทุน การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเอื้ออุตสาหกรรม เป็นต้น

โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงก็เป็นอีกโครงการที่นำไปสู่การทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของชาติให้ย่อยยับไปกับโครงการที่เปรียบเสมือนบ่อนทำลายแหล่งท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีกระเช้าไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีสภาพพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายในพื้นที่แห่งเดียวกันมากที่สุดทั้งป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หลากหลายตามไปด้วย ซึ่งหากดำเนินโครงการเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุต่อเนื่องที่จะกระทบต่อธรรมชาติมากที่สุดไปด้วย ดังนั้นหน้าที่หลักของอุทยานแห่งชาติคือการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ในสภาพเดิม โดยการใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้นเป็นหน้าที่รองลงมา หาใช่จะนำพื้นที่ป่าไปแสวงหาผลประโยชน์เล็กน้อย แต่ความสูญเสียจะมหาศาลตามมาได้

ทั้งนี้รัฐบาลหรือ อพท. ต้องตอบคำถามของประชาชนให้ได้ว่า ณ วันนี้ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของภูกระดึง (Carrying Capacity)เพียงพอแล้วหรือยังที่จะเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปภูกระดึงประมาณปีละ กว่า 62,000 คนแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเสาร์อาทิตย์ (ประมาณ 1,000 คน) และช่วงหยุดยาว (ประมาณ 3-5,000 คน) ถ้ามีกระเช้าจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปมากถึงประมาณ 250,000-300,000 คนต่อปี ธรรมชาติบนภูกระดึงจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหน แค่ถ้านักท่องเที่ยวจะอุจจาระ-ปัสสาวะพร้อมกัน จะมีสิ่งสาธารณูปการรองรับได้อย่างไร ถ้าไม่มีการก่อสร้างเพิ่ม

ประการที่สอง แหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกที่ใช้กระเช้าส่วนใหญ่จะให้คนขึ้นไปได้จัดให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้ปล่อยให้ออกไปเดินข้างนอกหรือค้างคืนเหมือนในกรณีของภูกระดึง ซึ่งมีข้อสงสัยว่า จากจุดท่องเที่ยวต่างๆบนภูกระดึงนั้นค่อนข้างอยู่ห่างไกลกันมาก เช่น ผาหล่มสักนั้นมีระยะทาง 9 กม.จากที่ทำการฯ ผู้สูงอายุที่ขึ้นไปถึงยอดด้วยกระเช้าแล้ว ก็ไม่สามารถเดินไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆได้อยู่ดี เป็นไปได้หรือไม่อาจจะมีการเรียกร้องให้เพิ่มโครงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นในอนาคต และอาจเรียกร้องให้มีรถรับส่งตามจุดท่องเที่ยว มีร้านค้า ห้องน้ำ ฯลฯ เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนยอดภูกระดึง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงการที่มีการแอบพรางไว้ก่อน เพื่อไม่ให้สังคมได้รับรู้ ไม่ปรากฏในรายงานการศึกษาหรือแผนงาน เพื่อให้โครงการกระเช้าก่อสร้างให้เสร็จเสียก่อน แล้วโครงการที่แอบพรางไว้ค่อย ๆ โผล่มาเองโดยอ้างความจำเป็น ใช่หรือไม่

ประการสุดท้าย ประเทศไทยยากจนข้นแค้นเงินทองเสียจนต้องยอมเอาพื้นที่อนุรักษ์ที่เหลือน้อยลงทุกที ทุกพื้นที่ออกมาเปิดพื้นที่ให้เอกชนแสวงหาผลประโยชน์ โดยแสร้งว่ารัฐไม่มีเงินลงทุน แล้วเปิดโอกาสให้เอกชนหรือกลุ่มทุนมาลงทุนตักตวงผลประโยชน์แทนแล้ว อย่างนั้นหรือ

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ใคร่ขอส่งคำถามเหล่านี้ไปยังรัฐบาล และ อพท. ให้ตอบคำถามให้สาธารณชนได้รับรู้ร่วมกัน หากตอบไม่ได้ได้โปรดนำโครงการฯและรายงานผลการศึกษานี้โยนใส่ถังขยะไปเสีย แล้วหันกลับมาร่วมมือกับภาคประชาชนเก็บและเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ไว้ให้อนุชนของชาติได้มีพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงต่อไป และหากรัฐบาล และ อพท. ไม่สนใจหรือทบทวนโครงการฯดังกล่าว สมาคมฯก็พร้อมที่จะร่วมมือกับชาวบ้านและนักอนุรักษ์ทั่วประเทศนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป...แน่นอน

ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559

นายศรีสุวรรณ จรรยา

(นายศรีสุวรรณ จรรยา)

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน