'อุทัย'แนะปรองดอง ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยช่วย

'อุทัย'แนะปรองดอง ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยช่วย

อดีตปธ.สภาปลุกข้าราชการ ยึดหลักเพื่อบ้านเมือง อย่าเออออ นักการเมือง แนะวิธีปรองดอง ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยช่วย ด้วยการเลือกตั้ง

คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาในหัวข้อ"หลักความเป็นอิสระ : ภูมิคุ้มกันการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง" ซึ่งมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วม  

นายอุทัย กล่าวว่า บ้านเมืองจะสงบร่มเย็นได้ ต้องมีผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่ดี ผู้หลักก็คือ ข้าราชการหรือคนยึดกฎหมายเป็นหลัก ส่วนผู้ใหญ่ คือผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง ดังนั้น จึงอยากให้ข้าราชการสำนึกว่า ตัวเองเป็นผู้หลักของบ้านเมือง ไม่ใช่ไปเออออกับผู้มีอำนาจ เพราะจะกลายเป็นผีกับโลง และอยากให้ข้าราชการปลดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ปกครองออกให้ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะมองประชาชนเหมือนลูกไก่ในกำมือ จนเกิดปัญหากับราษฎรทุกหย่อมหญ้า บีบบังคับไม่เคยให้ความสะดวก เพื่อต้องการให้เห็นความสำคัญของตัวเอง ดังนั้นข้าราชการจึงต้องมีจิตสำนึก รู้ว่าตัวเองอยู่ในฐานะอะไร ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง  

นายอุทัย กล่าวว่า วันนี้รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีมากมาตรา เขียนไว้ 5 มาตราที่สำคัญก็พอ เพราะกฎหมายอื่น ๆ คุ้มครองประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคุ้มครองอะไรไม่ได้  ไม่เช่นนั้นคงไม่โดนฉีกแล้วฉีกอีก อย่างไรก็ตามตนมองว่านักการเมืองต้องสามารถแตะต้องและโยกย้ายข้าราชการประจำได้ เพราะหากนโยบายอะไรที่สั่งไปแล้วข้าราชการเกียร์ว่าง ตัวรัฐมนตรีเองก็จะถูกประชาชนมองว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องคิดในแง่นี้ด้วย อย่าไปห่วงมาก เพราะมีกฏเกณฑ์ในการโยกย้ายที่ดีพอสมควรแล้ว นักการเมืองเองจึงทำนอกกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้และสิ่งที่วิตกกังวลกันจึงเป็นเรื่องพฤติกรรมและจิตสำนึกของนักการเมืองและข้าราชการประจำว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแค่ไหน เป็นหลักให้บ้านเมืองได้แค่ไหน และต้องยึดหลักเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น นักการเมืองเองจะเกรงกลัวข้าราชการ เพราะรู้ว่าไม่มีคนเอาด้วย เพราะข้าราชการยึดหลักความถูกต้อง  

นายอุทัย ยังให้เสนอแนะถึงเรื่องการสร้างความปรองดองว่า ต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อให้คนที่เห็นขัดแย้งเข้ามาสู่สภาฯ เพราะไม่มีวิธีไหนที่ทำได้ดีกว่านี้ การจับคน 2 ฝ่ายมาร้องเพลงหันหน้าชนกัน ไม่ได้ช่วยให้ความปรองดองเกิด   

"เทียนฉาย"ห่วงความอิสระแบบคุมไม่ได้ขององค์กรอิสระ   

นายเทียนฉาย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยให้เขียนใบลาออก แต่ไม่ลงวันที่ จนองค์กรไม่มีความแข็งแรง และยังกระทบกับขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างมาก และที่ผ่านมาข้าราชการก็มักเพิกเฉยไม่ทักท้วงโครงการที่อาจก่อผลเสีย อย่างโครงการแท็บเล็ตแจกนักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 1 นักวิชาการการศึกษาต่างไม่กล้าพูดตักเตือนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแท็บเล็ต แต่เป็นเรื่องเนื้อหา ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการเพียง 1 ปีแล้วยกเลิก แปลว่าอะไร ทำไมข้าราชการไม่พูดถึงผลดี ผลเสีย เพราะเรื่องนี้กระทบกับประเทศ เรื่องดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเขียนครอบคลุมได้ยาก เพราะนี่เป็นเรื่องพฤติกรรม ความคิด และการกระทำที่ข้าราชการจะต้องปรับปรุงแก้ไข     

ส่วนหลักประกันความมีอิสระของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ตนยังกังวลถึงความอิสระขององค์กรอิสระด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด บัญญัติให้บางองค์กรมีความเป็นอิสระสุดๆ ควบคุมไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับศาลปกครองและศาลยุติธรรม โดยร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติกรอบการบริหารงานภายในให้มีความเป็นอิสระ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ ผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่  แต่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความแตกต่าง ทั้งการได้มาของตุลาการทั้ง 9 คน รวมถึงยังถูกกำหนดความเป็นอิสระในอีกรูปแบบ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจน จึงควรกำหนดเอาไว้เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ           

ในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ แม้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน ม.179 ม.180 และ ม.181 อย่างชัดเจน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นกรอบใหญ่เฉพาะ ส.ส. ส.ว. ไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการ ตนจึงตั้งคำถาม หากพูดตามแนวปฏิบัติสากลว่า อัยการสูงสุด ควรเป็น กรรมการรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมถึงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องมีการกำกับกติกาเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย   

"บรรเจิด"ย้ำเลือกตั้งบัตรใบเดียว ทำพรรคนายทุนเข้มแข็ง   

ขณะที่นายบรรเจิด กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ มีพื้นฐานมาจากระบบพรรคการเมือง ระบบนี้ไม่เอื้อให้เกิดความเป็นอิสระ เพราะเป็นระบบเจ้าของพรรค ไม่ใช่ระบบพรรคแบบมวลชน ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขด้วยระบบเลือกตั้ง ที่จะทำให้ระบบพรรคมวลชนเติบโตได้ แต่เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดระบบเลือกตั้งส.ส. โดยใช้บัตรลงคะแนนเสียงใบเดียว จะทำให้พรรคที่มีนายทุนเป็นเจ้าของเข้มแข็งมากขึ้น พรรคที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ ส่วนระบบรัฐสภา ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุล จึงต้องวางกลไกลการตรวจสอบที่สามารถทำงานได้ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2540 เคยมีปัญหาเนื่องจากบัญญัติไว้ว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านต้องมีเสียง 2 ใน 5 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด แต่หากมีเสียงน้อยกว่านั้นไม่สามารถเปิดอภิปรายได้ จะทำให้การตรวจสอบดังกล่าว ออกไปสู่องค์กรข้างนอก เหมือนเอาเชื้อการเมืองไปติดข้างนอก จึงต้องออกแบบนวัตกรรมในระบบรัฐสภา ว่าจะทำอย่างไรให้สภาสามารถตรวจสอบถ่วงดุล และให้กลไกดังกล่าวทำงานเองให้ได้ก่อน เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งฐานคิดที่ไม่ถูกต้อง คือให้องค์ข้างนอกเข้ามาตรวจสอบแทน