เปิดคำขอแก้ร่ารธน. กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ-พลังงาน,สวล.

เปิดคำขอแก้ร่ารธน. กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ-พลังงาน,สวล.

เปิดรายละเอียดคำขอแก้ร่ารธน. กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ-พลังงาน,สิ่งแวดล้อม "ธีรยุทธ์"เสนอปรับร่างรธน.ให้มียุทธศาสตร์ชาติ

นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้นำกลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ  ที่ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่ามีทั้งหมด44มาตราที่ขอแก้ไข โดยสาระสำคัญคือเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ โดยในหมวด2แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้ปรับให้เป็น หมวด2ยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และได้เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา78 วรรคสองขึ้นใหม่ โดยสาระสำคัญเพื่อให้มีกลไกในการดำเนินการนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ และได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ จำนวน2มาตรา คือ มาตรา78/1ว่าด้วยการกำหนดให้องค์กรว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติที่มีอิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้กำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวจะมีผลบังคับต่อรัฐสภา และรัฐบาล ด้วย นอกจากนั้นกำหนดให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกับองค์กรดังกล่าวให้เพียงพอต่อการดำเนินการด้วย และมาตรา78/2 กำหนดให้ในระยะแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้สภานิติบัญญัติแห่ชาติ ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติภายใน15วันเพื่อให้ดำเนินการทำแผนยุทธศาสตร์ ทั้งนี้มาตรา78/2ดังกล่าวอาจไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลก็ได้ ส่วนเหตุผลที่ให้สนช. ดำเนินการแต่งตั้งนั้นเพื่อให้ทันต่อการดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

นายธีรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า   ขณะที่ประเด็นด้านงบประมาณและการคลัง มาตรา200ว่าด้วยการกำหนดนิยามคำว่าเงินแผ่นดินนั้น ขอให้ตัดออกทั้งมาตรา เพราะที่ผ่านมาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองว่าด้วยความหมายของเงินแผ่นดินเป็นมาตรฐานการปฏิบัติอยู่แล้ว และหากร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดนิยามคำว่าเงินแผ่นดินไว้ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น กรณีกำหนดให้เงินกู้เป็นเงินแผ่นดินด้วย อาจมีบางรัฐบาลที่ระบุว่าให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่งใช้เงินเพื่อดำเนินการไปพลางก่อน และให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ใหม่ ซึ่งกรณีนี้ถือไม่ใช่การกู้เงิน ขณะที่รายละเอียดของมาตรา200ในประเด็นที่นอกจากคำนิยาม ให้ไปบัญญัติไว้ในมาตราที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันต่อไป

นายธีรยุทธ์ กล่าวถึงการกำหนดว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการด้วยระบบคุณธรรม ในมาตรา207ขอแก้ไขให้เป็นการตั้งข้าราชการทุกประเภทต้องยึดระบบคุณธรรม และการตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการแต่งตั้ง โยกย้าย โอน ข้าราชการให้ครอบคลุมข้าราชการระดับสูงทุกประเภท คือ ครู ตำรวจ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ขณะที่การแต่งตั้งกรรมการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในระบบคุณธรรม ได้ตัดส่วนที่ให้วุฒิสภาพิจารณาประวัติกรรมการ และแก้ไขเป็นกรรมการกลางบริหารงานบุคคลในหน่วยงานแทน และกำหนดให้นายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานและกรรมการแต่ตั้งข้าราชการระดับสูงด้วยระบบคุณธรรม จากเดิมกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ สปช. ในฐานะผู้นำยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มมีทั้งสิ้น68ข้อ โดยรายละเอียดสำคัญจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ อาทิ มาตรา64ขอให้ตัดประเด็นผู้มีส่วนได้เสียที่ห้ามดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบคุณภาพ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชออก เพราะหลักการสำคัญผู้ที่จะดำเนินการล้วนมีส่วนได้เสีย มาตรา193ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน โดยคำขอแก้ไขได้คงไว้เฉพาะวรรคหนึ่งและวรรคสองไว้ ส่วนที่เหลือนั้นขอให้ตัดออก ขณะที่วรรคสอง ได้เพิ่มคำว่า การเปิดเสรีทางการค้า ทำให้หนังสือสัญญาที่จะต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนนั้นจะมีเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาณาเขต และ การเปิดเสรีทางการค้าเท่านั้น

นายมนูญ กล่าวด้วยว่า ในประเด็นทางการเมือง มีประเด็นที่แก้ไข คือ ที่มาของ สว. ได้ลดจำนวนจาก200คน เป็น154คน โดยมาจากการเลือกตั้ง77จังหวัดๆ ละ1คน รวมเป็น77คนและมาจากการสรรหาตามรูปแบบที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด จำนวน73คน แต่มีการปรับสัดส่วนให้เหมาะสม ขณะที่ส.ส. ได้แก้ไขการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้กลับไปใช้รูปแบบเดิม คือให้กรรมการบริหารพรรคจัดเรียงลำดับผู้สมัครได้ด้วย และไม่ให้มีการเลือกแบบโอเพ่นลิตส์ และแก้ไขประเด็นว่าด้วยการให้เอกสิทธิ์คุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามจับกุม คุมขังระหว่างสมัยประชุมออก และได้เสนอแก้ไขมาตรา308ว่าด้วยการทำประชามติหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ว่าจะให้ดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้ง หากเสียงข้างมากเห็นชอบให้ดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จภายใน2ปี