เผย '3ภาพ' ที่ปรารถนา ผล 'ประชาเสวนา' ยุคปฏิรูป

เผย '3ภาพ' ที่ปรารถนา ผล 'ประชาเสวนา' ยุคปฏิรูป

(รายงาน) เผย "3ภาพ" ที่ปรารถนา ปลอดทุจริต-ศึกษาดี-ปรองดอง จาก "ประชาเสวนา" ยุคปฏิรูป

สรุป ผลการประชาเสวนาหาทางออกสานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ 10 เวที โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะ


คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุ กมธ.ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ และนางสาวรัชวดี แสงมหะหมัด นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ได้สรุปข้อเสนอจากประชาชนในเวทีรับฟังความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้โครงการเวทีการประชาเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ ตามภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 ครั้ง ระหว่างวันที่ 17 ม.ค.-28 มี.ค.ที่ผ่านมา เสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้


ผลการสังเคราะห์ข้อมูล ประเด็น “ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา” จากประชาชนทั้ง 10 เวที พบว่า สิ่งที่เป็นภาพอนาคตที่พึงปรารถนาร่วมกันมากที่สุด คือ ต้องการเห็น “เมืองไทยใสสะอาด ปราศจากการทุจริต” รองลงมาคือ ต้องการเห็น “การศึกษาที่ดีและการปฏิรูปการศึกษา” และ “ความสามัคคีและความปรองดอง” ตามลำดับ


ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เรื่องการทุจริตยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ภาพอนาคตที่ประชาชนต้องการเห็นและให้ความสำคัญอีกประการคือเรื่องของการศึกษาที่ดี และการปฏิรูปการศึกษา สะท้อนว่า ประชาชนต้องการให้เกิดการพัฒนาให้ถึงระดับตัวบุคคล


ขณะที่ประเด็นเรื่องความสามัคคีและความปรองดองนั้น หากพิจารณาข้อมูลในแต่ละพื้นที่จัดเวทีแล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันไป ตามบริบทพื้นที่ด้วย


สำหรับแนวทางที่นำไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนานั้น สามารถสรุปและประมวลแนวทาง รวมทั้งมาตรการไปสู่ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา ดังนี้


ลำดับแรก เรื่องการเมืองไทยใสสะอาดนั้นมีแนวทางและมาตรการการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ
1.เพิ่มภาคประชาชน เอกชน และภาคราชการ เข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินโครงการในท้องถิ่น โดยให้มีกฎหมายรองรับ หรือ กำหนดในรัฐธรรมนูญ


โดยให้มีสัดส่วนหญิงชาย 50:50 ภาคประชาชนสัดส่วนร้อยละ 60 เข้าร่วมตรวจสอบและรับรู้ตลอดการดำเนินโครงการ


2.มีกล่องรับฟังความคิดเห็นหรือศูนย์รับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ มีหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส


แนวทางและมาตรการด้านกฎหมายและข้อบังคับ มีข้อเสนอได้แก่ 1.ออกกฎหมายลงโทษที่รุนแรงกับผู้นำที่ทุจริต เช่น ลงโทษประหารชีวิต ลงโทษทั้งผู้ให้ ผู้รับ และผู้ที่เกี่ยวข้อง


โดยเฉพาะข้าราชการ เพราะเป็นผู้รู้กฎหมาย ควรเพิ่มบทลงโทษเป็น 10 เท่า และไม่มีหมดอายุความ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง


2.เงินที่ตรวจสอบพบว่าได้มาจากการทุจริตให้นำไปตั้งเป็นกองทุนพัฒนาท้องถิ่น และนำความผิดมาเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้


ส่วนแนวทางและมาตรการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตนั้น เห็นว่า สื่อมวลชนทุกแขนงต้องสอดแทรกสิ่งที่ดี ๆ ให้กับเยาวชนทางอ้อม รวมทั้งต้องสร้างกระแสและปลูกจิตสำนึกให้เพิ่มมากขึ้น


ลำดับที่ 2 เรื่องการศึกษาที่ดี และการปฏิรูปการศึกษานั้น มีแนวทางและมาตรการด้านกฎ นโยบาย การบริหารการศึกษา คือ


1.จัดรัฐสวัสดิการการศึกษาให้กับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย มีนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี สนับสนุนการศึกษานอกระบบ มีนโยบายการศึกษาที่ดีและต่อเนื่องเป็นรูปธรรม


2.มีระบบการคัดเลือกและพัฒนาครูให้เป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น รวมทั้งมีระบบการให้ความช่วยเหลือ ปรับปรุงคุณภาพครู และยกระดับวิชาชีพครูให้เทียบเท่าหรือมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ


ทั้งนี้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีวาระ 2 ปี เพื่อลดอำนาจการผูกขาด หมุนเวียนผู้บริหารโรงเรียน กระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่น ให้การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการในท้องถิ่น (ไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น)


ส่วนแนวทางและมาตรการด้านคุณภาพการศึกษาและหลักสูตรการศึกษานั้น สิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือ 1.นำหลักสูตรของท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา มาบรรจุในแผนการศึกษาของชาติ ปลูกฝังเรื่องจิตอาสาในการเรียนการสอน


รวมทั้งเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนในชุมชนร่วมเป็นกรรมการในสถานศึกษา ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการศึกษาระดับชาติ


2.ครูต้องมีอิสระการสอน ไม่ถูกบังคับโดยระบบประเมิน สำหรับการประเมินวิทยฐานะครู ต้องคำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ รวมทั้งใช้การสัมภาษณ์ควบคู่ไปด้วย


3.มีหลักสูตรการศึกษาที่ดี ได้แก่ จัดหลักสูตรแบบสอนให้น้อยเรียนรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพได้ นอกจากนี้ให้มีการสอนทฤษฎี ร้อยละ 35 และมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติ ร้อยละ 65 และควรมีการจัดตั้งโรงเรียนวิชาชีพในทุกจังหวัด


สำหรับแนวทางและมาตรการด้านการสนับสนุนการศึกษาจากครอบครัวนั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างครูและผู้ปกครองด้านพฤติกรรมเด็ก โดยผู้ปกครองต้องรับรู้ว่าครูสอนเรื่องอะไรให้เด็กเพื่อช่วยเน้นย้ำการสอน ในส่วนของครอบครัวจะต้องทำงานร่วมกับสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด


ลำดับที่ 3 เรื่องความสามัคคี และปรองดอง มีแนวทางและมาตรการเชิงกลไกทางสังคมและชุมชนได้แก่
1.จัดเวทีพูดคุย สานเสวนาในประเด็นต่างๆ ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกระดับ พร้อมเชิญชวนคนในสังคมรวมกันหรือกำหนดกิจกรรมและทำกิจกรรมร่วมกัน และหันหน้าคุยกันและเพิ่มความสามัคคีในชุมชน โดยใช้กระบวนการหาฉันทามติในการดำเนินโครงการในชุมชน นอกจากนี้มีการจัดเวทีสานเสวนาคนในชุมชนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่พึงปรารถนา


จากผลสังเคราะห์ยังมีการเสนอจัดตั้ง "ศูนย์ปรองดอง" โดยมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองประจำจังหวัด ประสานงานกับศูนย์ไกล่เกลี่ย ศูนย์ยุติธรรมชุมชน ศูนย์ยุติธรรมหมู่บ้าน โดยรัฐอุดหนุนเพื่อให้การพิจารณาคดีมีความเป็นธรรม โปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม


หลังจากที่ได้มีการรวบรวมและสังเคราะห์ความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนทุกภาคส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะอนุกมธ.ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนเสนอต่อไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน


ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งประเด็นการวางหลักเกณฑ์และเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องการป้องกันการทุจริต


อย่างไรก็ดี ผลจากการจัดเวทีทั้ง 10 เวทีได้สะท้อนให้เห็นภาพที่ประชาชนต้องการกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่ว่า “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข”