ย้อนรอยคดีอุ้ม'อัลรูไวลี'สะเทือนความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ
คดีอุ้ม"มูฮัมหมัด อัลรูไวลี" นักธุรกิจซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุฯส่งผลสะเทือนไทย-ซาอุฯ
คดีอุ้มนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซึ่งมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย ส่งผลสะเทือนความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ
ระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างมาก ถึงขนาดเรียกอุปฑูตประจำประเทศไทยกลับลดเหลือเพียงระดับเลขานุการเอก
ย้อนรอยคดีนี้ นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี เข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยประมาณปี 2529 เปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ต่อมาภายหลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย ในเดือน ก.พ. 2533 นายอัลรูไวลีก็หายตัวไปเหตุเกิดที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลสมัยนั้นต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย จึงสั่งให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น รื้อคดีสังหารนักการทูต และการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี
และจากข้อมูลในทางลับอ้างว่า ทีมสืบสวนขณะนั้นที่นำโดย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค5 นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต จนต้องทำลายหลักฐานที่ จ.ชลบุรีแต่คดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
กระทั่งในปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้นำหลักฐานใหม่ขอรื้อคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี และเป็นจุดเริ่มต้นของการออกหมายเรียก พล.ต.อ.สมคิด พร้อมลูกน้องประกอบไปด้วย พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และจ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ มารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำหรือไม่กระทำการใด
สำหรับหลักฐานใหม่ที่ใช้ในการดำเนินการสั่งฟ้อง มีเพียงเป็นแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว แหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลีที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก 1 ในทีมพล.ต.อ.สมคิดเก็บไว้ ซึ่ง พ.ต.ท.สุวิชัย ภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากดีเอสไอกันไว้เป็นพยานปากสำคัญ
นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมคิดยังออกมาเปิดเผยว่า อัยการได้ช่วยเหลือให้พยานคนนี้ หลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และต้องใช้วิธีสืบพยานระหว่างประเทศ คดีนี้จึงมีพิรุธ...ว่าอาจมี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อกลั่นแกล้ง พล.ต.อ.สมคิดกับพวก หลังจากดีเอสไอสั่งรื้อคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดานายมูฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกรวม 5 คน โดยมีคำวิจฉัยว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมาจึงไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งพยานอื่นๆของโจทก์ เป็นเพียงพยานแวดล้อม กรณีจึงไม่มีการยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิดจริง ประกอบกับจำเลยทั้งห้าได้ปฏิเสธมาโดยตลอด คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการยื่นอุทธรณ์คดี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ พร้อมพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยจากกรณีอุ้มนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ว่า ทางอัยการสำนักงานคดีศาลสูงได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว โดยเห็นควรยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งขณะนี้อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ไปแล้วภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ก็คงจะต้องรอศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนคดีเพื่อทำคำพิพากษา ทั้งนี้ หากศาลอุทธรณ์พิจารณาและตรวจสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งผลคำพิพากษากลับมาให้ศาลอาญา โดยศาลอาญาจะแจ้งหมายให้คู่ความรับทราบเพื่อมาฟังคำพิพากษาต่อไป