หลักสูตรโดดร่ม วัดใจนร.นายร้อยแหวกฟ้าคว้า'ปีก'

หลักสูตรโดดร่ม วัดใจนร.นายร้อยแหวกฟ้าคว้า'ปีก'

นักเรียนนายร้อยตำรวจกำลังร่วมฝึกหลักสูตรกระโดดร่มประจำปี แล้วเกิดเหตุ"ร่มไม่กาง" ทำให้เสียชีวิต 2 นาย

กรณีการเสียชีวิตของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 69 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ชั้นปีที่ 2 ขณะร่วมฝึกหลักสูตรกระโดดร่มประจำปี แล้วเกิดเหตุ "ร่มไม่กาง" ทำให้ นรต.เสียชีวิต 2 นาย เมื่อวันสุดท้ายปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น นับเป็นเหตุการณ์สลดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ หรือมีความบกพร่องผิดพลาดที่ขั้นตอนไหน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำรอยอีก

ย้อนกลับดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่ามี นรต.ที่อยู่ในแถวโดดร่มชุดเดียวกันกับ 2 ผู้เสียชีวิตอีก 7 คน (รวมเป็น 9 คน) แม้ว่า นรต.กลุ่มนี้จะปลอดภัย แต่ในเสี้ยววินาทีที่จะกระโดดออกจากเครื่องบินนั้น พวกเขาก็เอาชีวิตไปแขวนอยู่บนลวดสลิงเส้นเดียวกัน โดย 4 คนร่มกางปกติ ส่วนที่เหลือ 3 คน มีคนหนึ่งที่ครูฝึกช่วยดึงร่มให้กางออก ส่วนอีก 2 คนดึงร่มสำรอง (ร่มช่วยชีวิต) ได้ทัน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ทวีชัย วิริยะโกศล ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบช.ประจำ สนง.ผบ.ตร.) เป็น ประธาน โดยเบื้องต้นเชื่อว่าสาเหตุเกิดที่ "ร่มไม่กาง" เพราะ "สายสลิง" ที่ติดตั้งและปล่อยตัวนักกระโดดร่ม "ขาด" ขณะกำลังปล่อยตัว นรต. ส่วนจะมีเหตุปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ คงต้องรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ไม่บังคับ..แต่ท้าทาย

สำหรับ "หลักสูตรกระโดดร่ม" นี้ เป็นหนึ่งในหลักสูตรย่อยที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตํารวจ (รวมทั้งนายร้อยของทหารด้วย) มาทุกหลักสูตร แม้การปรับปรุงหลักสูตรในปี 2549 และล่าสุดปี 2556 ที่ใช้ชื่อว่า รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการตำรวจ ก็ยังคงหลักสูตรนี้ไว้

อย่างไรก็ดี "หลักสูตรกระโดดร่ม" จัดอยู่ในหมวด "หลักสูตรเลือก" คือเป็นวิชาไม่บังคับ เป็นการฝึกหลักสูตรพิเศษที่ไม่นับหน่วยกิต จึงไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนหรือเข้ารับการฝึกก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักเรียนนายร้อยตำรวจแต่ละคน

สำหรับผู้ที่ร่วมหลักสูตรกระโดดร่ม จะเริ่มฝึกในช่วงปลายของการศึกษาชั้นปีที่ 2 ก่อนขึ้นชั้นปีที่ 3 โดยไปรับการฝึกที่กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือที่รู้จักกันในนามตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ราวๆ เดือน ก.พ.-เม.ย.ของทุกปี โดยระยะเวลาการฝึกประมาณ 1 เดือนเศษ

"หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ฝึกเหนื่อยที่สุดในบรรดาหลักสูตรนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสูตรที่วัดกำลังใจ ซึ่งนักเรียนนายร้อยเกือบทุกคนต้องการเข้าร่วมฝึกร่มเพื่อเป็นเกียรติประวัติ" นายตำรวจระดับร้อยตำรวจเอกซึ่งได้รับ "ปีกร่ม" หลังผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ"

ร่ม 2 ชุดสู่อากาศเวิ้งว้าง

การฝึกกระโดดร่มมีทั้งหมด 6 ฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมร่างกาย การทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ กระทั่งถึงการทดลองกระโดด และกระโดดจริง โดยร่มที่ติดอยู่กับตัวจะมี 2 ชุด ชุดแรกเรียกว่า "ร่มกระตุกเอง" จะมีตะขอเกี่ยวกับสลิงบนเครื่องบิน เมื่อกระโดดออกจากเครื่องบินแล้ว ตะขอจะกระตุกทำให้ร่มกางออก และสายที่เกี่ยวร่มไว้จะดีดกลับไปบนเครื่องบิน

ส่วนร่มอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า "ร่มสำรอง" หรือ "ร่มช่วยชีวิต" ผู้ฝึกจะต้องดึงเองที่หน้าอกหากร่มหลักไม่กาง

แต่แม้จะผ่านการฝึกแต่ละฐานอย่างเข้มข้น แต่การกระโดดจากเครื่องบินที่บินสูงเสียดเมฆลงสู่อากาศอันเวิ้งว้าง ย่อมทำให้สติหลุดได้ง่ายๆ

นายตำรวจคนเดิม เล่าว่า ช่วงที่กระโดดออกไปจากเครื่องบิน จะปะทะกับแรงลม ทำให้ตัวเราหมุนหลายรอบ มึนงงไปหมดอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเชื่อว่าแต่ละคนคงคิดไม่ทันที่จะต้องสำรวจร่มของตัวเองว่ากางแล้วหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำภายใน 4 วินาทีหลังจากกระโดดพ้นประตูเครื่องบิน

"เราต้องฝึกข้อเท้า คอ และแขนให้แข็งแรง ส่วนช่วงที่กระโดดจากเครื่องนั้น ก็ต้องค้ำประตูเครื่องบินแล้วส่งตัวออกไปตามที่ได้รับการฝึกมา ส่วนร่มก็จะถูกสายโยงกระตุกให้กางออกเอง เมื่อเรากระโดดออกไปแล้วไม่มีใครช่วยอะไรเราได้ ในช่วงที่เรานับในใจ 4 วินาที (หนึ่งพันหนึ่ง หนึ่งพันสอง หนึ่งพันสาม หนึ่งพันสี่) นั้น เราต้องยกมือสำรวจเองว่าร่มกางหรือไม่กาง หากไม่กางต้องรีบกระตุกร่มสำรองทันที ไม่เช่นนั้นร่มจะกางไม่ทันก่อนตกถึงพื้น ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก หากตั้งสติไม่ดีก็อาจถึงชีวิต"

1เดือนกับหลักสูตรสุดเสี่ยง

ขณะที่นายตำรวจระดับ "สารวัตร" อีกนายหนึ่งซึ่งผ่านการฝึกหลักสูตรนี้เช่นกัน เล่าถึงบรรยากาศการฝึกที่เคยผ่านมาครั้งหนึ่งในชีวิตว่า ในหนึ่งเดือนเศษที่เข้ารับการฝึก จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 3 สัปดาห์เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เรียนรู้อุปกรณ์ ฝึกท่าทางการกระโดด และฝึกกระโดดหอ ซึ่งเป็นหอสูง จากนั้นสัปดาห์สุดท้ายจึงเป็นการกระโดดร่มจริงจากเครื่องบิน โดยนักเรียนที่ผ่านหลักสูตรนี้จะต้องกระโดดร่มให้ผ่านทั้งหมด 6 ครั้ง

เขาเล่าต่อว่าในแต่ละรอบที่เครื่องบินขึ้นบิน จะมีนักเรียนกระโดดร่มทั้งหมด 18 คน นั่งฝั่งละ 9 คน โดยเครื่องบินจะบินสูงจากพื้นดินประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก่อนจะบินวนรอบบริเวณจุดที่จะกระโดดลง 2 รอบ

รอบแรกนักเรียนชุดแรก 9 คนจะออกมายืนเรียงกัน โดยคล้องชุดกระตุกสายร่มเข้ากับลวดสลิง เมื่อเปิดประตูเครื่องบินด้านขวาของตัวเครื่อง (หันหน้าไปทางท้ายเครื่อง) ครูฝึกจะส่งสัญญาณให้นักเรียนทุกคนกระโดดออกจากเครื่องแบบกระโดดไล่ๆ กันออกไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันจุดที่กำหนดพื้นที่กระโดดเอาไว้ จากนั้นรอบ 2 ก็จะถึงคิวของนักเรียนอีก 9 คนที่เหลือ

"เมื่อลอยตัวลงสู่พื้น ก็ต้องทำท่าทางตามที่ได้รับการฝึกมา ไม่เช่นนั้นหากดึงเบรกร่มไม่ดี ตัวเราจะตกกระแทกพื้นที่ค่อนข้างแรง ซึ่งก็ไม่ต่างจากการกระโดดลงมาจากตึก 1-2 ชั้น" นายตำรวจระดับสารวัตร กล่าว

อาจสติแตกกลางอากาศ

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดกับ นรต.รุ่นน้องที่เสียชีวิตจากการฝึกกระโดดร่มนั้น นายตำรวจรุ่นพี่ทั้งสองนายระบุว่า คงต้องรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน อย่างไรก็ตามนายตำรวจระดับสารวัตร ตั้งข้อสังเกตว่า ในวันกระโดดจริง นักเรียนมีหน้าที่แบกร่มขึ้นเครื่องบินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนในการเตรียมร่ม เพราะการพับร่มจะมีครูฝึกที่เชี่ยวชาญเป็นผู้พับเตรียมไว้ให้ ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับการพับร่มผิดรูปแบบ

ส่วนนรต.ที่กระตุกร่มสำรองได้ทัน นับว่าควบคุม "สติ" ของตัวเองได้ดีมาก แม้จะเป็นการกระโดดร่มขั้นพื้นฐาน เพราะเชื่อว่าคนที่ไม่เคยกระโดดร่มมาก่อน แล้วต้องมากระโดดร่มเป็นครั้งแรก จะไม่รู้ว่าสายร่มของตัวเองกระตุกและร่มกางแล้วหรือไม่

"คนที่ไม่เคยโดดร่มแล้วต้องมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ อาจสติแตกกลางอากาศได้" นายตำรวจระดับสารวัตร สำทับ

ดาวติดบ่า-ปีกติดอก

ทั้งนี้จากการสอบถามนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ทหารบก) ซึ่งต้องผ่านการฝึกกระโดดร่มลักษณะเดียวกัน ยอมรับว่า ช่วงที่อยู่กลางอากาศจะคุมสติยากมาก ลมก็แรง ตัวเราก็หมุนไปมาหลายรอบ แม้ร่มของเราจะกางแล้วก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เนื่องจากยังอาจเกิดเหตุการณ์สายร่มพันกัน หรือลอยไปชนกระแทกกับเพื่อนที่กระโดดในชุดเดียวกัน จนเกิดอันตรายได้

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อรู้ว่าสลิงขาด ทำไมจึงยังปล่อยให้ นรต.กระโดดออกจากเครื่องบินอยู่นั้น นายทหารรายนี้บอกว่า เวลากระโดดร่ม ต้องกระโดดต่อเนื่องกัน หากช้าจะเลยจุดที่ต้องการให้ลงสู่พื้น ฉะนั้นบางทีครูฝึกอาจจะไม่รู้ในวินาทีนั้นด้วยซ้ำว่าสลิงขาดแล้ว ส่วนนักเรียนที่ฝึกกระโดดย่อมไม่รู้แน่ๆ ฉะนั้นคนที่ดึงร่มสำรองได้ทัน ถือว่าสติดีมาก

ด้านนายตำรวจอีกรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องบินที่ใช้ฝึกว่า เครื่องบินที่ตำรวจใช้ในการฝึก เป็นเครื่องที่มีประตูด้านข้างซ้าย-ขวา เวลากระโดดต้องวิ่งไปท้ายเครื่องแล้วกระโดดออกจากประตูด้านข้างของตัวเครื่อง ซึ่งต่างจากเครื่องบินของทหารที่จะเปิดประตูท้ายเครื่องได้ เวลาวิ่งกระโดดออกไปก็จะเป็นทางตรง ไม่ต้องเอามือไปจับประตูแล้วเบี่ยงตัวกระโดดออกไปเหมือนตำรวจซึ่งอันตรายกว่า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักสูตรกระโดดร่ม จะมีการฝึกที่หนักหนาสาหัส และมีภาคปฏิบัติจริงที่เสี่ยงตาย แต่หลักสูตรนี้ก็เป็น "ค่านิยม" อย่างหนึ่งของการเป็นนักเรียนนายร้อยทุกเหล่า ว่าทุกคนต้องผ่านหลักสูตรนี้ ถึงขนาดที่ว่าคว้า "ดาว" ติดบ่าได้แล้ว แต่ถ้าไม่มี "ปีก" ติดอก ก็ถือว่าความเป็น "นายร้อย" ของคนนั้นไม่สมบูรณ์!