เช็คขุมกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษพร้อมจู่โจม

เช็คขุมกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษพร้อมจู่โจม

เช็คขุมกำลัง "หน่วยปฏิบัติการพิเศษ" 5 หน่วยเฉพาะกิจพร้อมเป็นชุด "จู่โจม"

สำหรับกำลังตำรวจที่มีศักยภาพเพียงพอจะเป็นชุด "จู่โจม" ตามที่ ศรส. ประกาศว่าจะส่งไปจับกุมบรรดาแกนนำนั้น คงหนีไม่พ้นพวก "หน่วยปฏิบัติการพิเศษ" ของตำรวจหน่วยต่างๆ ที่ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งปัจจุบันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วย "พิเศษ" แบบนี้อยู่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. นเรศวร 261 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 2. อรินทราช 26 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3. สยบไพรี กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 4. สยบบริปูสะท้าน กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ 5.ปราบไพรีอริศัตรูพ่าย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

หากมีการใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และมี พล.ต.ท.ปริญญา จันทร์สุริยา ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน เป็นรองหัวหน้า และมี พล.ต.ต.ศรกฤษ แก้วผลึก ผบก.ฝรก. เป็นประจำชุด

แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คาดว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่จะถูกเลือกมาเป็นลำดับแรกๆ คือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ตามแนว "การบริหารวิกฤตการณ์" ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยอรินทราช 26 โดยตรง เพราะอยู่ในพื้นที่เมืองหลวง และปริมณฑล

หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองร้อย สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล หน่วยงานนี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นระยะ มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, รวมถึงอุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล

นอกจากสถานการณ์อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว การเลือกหน่วยอรินทราช 26 เป็นชุดปฏิบัติการลำดับแรกๆ เนื่องจาก ทั้งพล.ต.อ.วรพงษ์ และ พล.ต.ท.ปริญญา เคยเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยอรินทราช 26 มาก่อน ทั้งในตำแหน่งผบช.น. ซึ่งพล.ต.อ.วรพงษ์ เคยทำหน้าที่ และในตำแหน่งรองผบช.น. ที่ พล.ต.ท.ปริญญา เคยทำหน้าที่ ทำให้มีความคุ้นเคยกับทีมปฏิบัติการเป็นอย่างดี

ถัดมาคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด มีพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติการทั่วประเทศ มีความเชี่ยวชาญในการจู่โจมทางอากาศ ซึ่งเหมาะกับภารกิจจู่โจมชิงตัวแกนนำโดยวิธีการโรยตัวจากที่สูง ซึ่งหน่วยงานนี้มีการฝึกฝนภารกิจดังกล่าวเป็นระยะ

นเรศวร 261 ประกอบกำลังในลักษณะกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ร้อย ปพ.) จำนวน 3 กองร้อย, กองร้อยกู้ชีพ และงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ขึ้นตรง บก.สนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ทางยุทธการ ขึ้นตรงกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย

ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สยบไพรี ของ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) น่าจะเป็นชุดปฏิบัติการถัดมาที่ ศรส. เลือกใช้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศรส.ในขณะนี้ เดิมที่ชุดปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กวาดล้างคดีอาชญากรรมและยาเสพติด มีขีดความสามารถในการต่อสู้และปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์สงครามพิเศษกองทัพบก กรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธินกองทัพอากาศ และหน่วยรบพิเศษจากต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดประเทศสหรัฐอเมริกา

ถัดมา หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบไพรีอริศัตรูพ่าย สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาจจะถูกเรียกใช้เช่นกัน แม้หน่วยนี้จะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่กองกำลังมีศักยภาพในปฏิบัติภารกิจจู่โจมไม่แพ้กัน ทั้งการจู่โจมทางอากาศ มีความเชี่ยวชาญในการโรยตัวเข้าอาคาร และปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมามีการฝึกฝนจำลองเหตุการณ์สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นระยะ หน่วยนี้มีกำลังประมาณ 2 กองร้อย ปัจจุบันขึ้นตรงต่อ พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองขั้วอำนาจในปัจจุบัน

อีกชุดคือ "สยบริปูสะท้าน" ประกอบกำลังจากหน่วยคอมมานโดกองบังคับการปราบปราม เป็นหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้สูง มีขอบเขตการปฏิบัติงานทั่วประเทศ เหมาะกับภารกิจจู่โจมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน หรือปราบจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง แต่มีการคาดการณ์ว่าหน่วยนี้น่าจะถูกเรียกใช้ในลำดับท้ายสุดของชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 5 หน่วย เนื่องจากระยะหลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีนโยบายเน้นงานมวลชน มีการนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน การปฏิบัติภารกิจจู่โจมที่มีเป้าหมายที่สุ่มเสี่ยงกับการกระทบกระทั่งกับมวลชน หน่วยนี้อาจลดบทบาทลง

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวหนาหู สะพัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ภารกิจ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวอาจเป็นหมัน เนื่องจากตำรวจระดับผู้ปฏิบัติไม่มั่นใจในสถานะของรัฐบาลรักษาการ อีกทั้งภารกิจการ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ท่ามกลางมวลชนจำนวนมากนั้น เสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์บานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสีย

อีกทั้งมีการประเมินว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมเองมีหน่วยงานบางหน่วยที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้ พร้อมต่อต้านปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจ หากเกิดปฏิบัติการขึ้นจริง อาจเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย