ศาลฎีกาฯ เตรียมพร้อมนัดไต่สวนคดีชั้น 14 เผย 'ทักษิณ' ไม่ได้มา

อัปเดต! ศาลฎีกาฯ เตรียมความพร้อมนัดไต่สวน 'คดีชั้น 14' เผย อสส.แจงแล้ว ยันหมดหน้าที่หลังศาลตัดสิน ส่วน 'ทนายวิญญัติ' ยัน 'ทักษิณ' ไม่ต้องมา เหตุศาลไม่ได้ออกหมายเรียก
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพร้อมหรือนัดไต่สวน กรณีความปรากฏการบังคับโทษจำคุก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.68 ศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยในคดีทั้ง 3 คดี แจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงตามที่อ้างในคำร้อง หรือไม่พร้อมกับสำเนาคำร้องให้ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ให้ชี้แจงข้อประกอบการพิจารณาของศาล ว่าการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่ พร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน
มีรายงานว่า ศาลฎีกาฯ กำลังประเมินว่าในวันดังกล่าวจะมีผู้สื่อข่าวเดินทางมาทำข่าวมากน้อยเเค่ไหน ถ้ามากันจำนวนมาก จะมีการพื้นที่กันโซนหน้าอาคารศาลฎีกาฯ ฝั่งคลองหลอด เพื่ออำนวยความสะดวก หรือหากกรณีมีรถถ่ายทอดสด ของสถานีสื่อก็สามารถทำการถ่ายทอดสด หรือไลฟ์สดได้ภายนอกเขตอาคารศาล
โดยสื่อมวลชนที่จะประสงค์เข้าไปทำข่าวในศาลฎีกาฯ ก็จะต้องมีการขออนุญาตทำข่าว โดยปฏิบัติตามระเบียบของศาล ห้ามถ่ายภาพคลิปวีดีโอในบริเวณอาคารศาล ศาลฎีกาฯ ก็จะพิจารณาดูว่ามีสื่อมวลชนขออนุญาตเข้าไปทำข่าวในห้องพิจารณาคดีจำนวนมากหรือไม่ ถ้ามีจำนวนมาก ก็อาจจะเปิดห้องถ่ายทอดสัญญาณคอนเฟอเรนซ์อีกห้องหนึ่ง เเต่ถ้าจำนวนไม่มากก็จะอนุญาตให้เข้าฟังในห้องพิจารณาคดีได้ โดยทั้งสองห้องผู้ที่เข้าฟังจะต้องฝากเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดไว้ข้างนอก นำเข้าได้เพียงสมุด และปากกาจดข่าว
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ก็จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าพนักงานตำรวจศาลดูแลเป็นหลัก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ.และตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม ส่วนจะมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ประเมินเหตุการณ์เอง คาดว่าในวันดังกล่าวจะยังไม่มีมวลชนมาเยอะ เนื่องจากเป็นการนัดพร้อมไต่สวนคำชี้แจงที่ได้หมายเรียกมาจากคู่ความและหน่วยงานต่าง ๆ
สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาฯ ยังไม่ได้ออกหมายเรียกตัวนายทักษิณ มาศาลในวันนัดดังกล่าว องค์คณะทั้ง 5 คน หรือทางศาลฎีกาฯ ก็ยังไม่มีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษมา คาดว่าในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ จะยังไม่มีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับปมบังคับโทษเลย ต้องรอดูว่าองค์คณะทั้ง 5 ของศาลฎีกาฯ จะพิจารณาคำชี้แจง และมีคำสั่งอย่างไรต่อไป
ด้านฝั่งอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะโจทก์ ขณะนี้ทาง อสส.ยังไม่ได้มอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้แทนไปศาลฎีกาฯ หรือจำเป็นที่อัยการจะต้องเดินทางไปหรือไม่ แต่ถ้าในหน้างานก็จะเป็นของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตฯ จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ใครไป ทั้งนี้ อสส.ได้มีการชี้แจงไปยังศาลฎีกาฯ ทำนองว่าไม่มีข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นชั้นบังคับคดี พอหลังจากศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้ว อัยการก็ไม่มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องอีก
เช่นเดียวกับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์ ยังมิได้มอบหมายบุคคลใดเป็นผู้แทนไปศาลฎีกาฯ อย่างไรก็ดีในหน้างานเป็นหน้าที่ของสำนักคดี ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการติดตามเรื่อง เบื้องต้นมีรายงานว่า ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ชี้แจงศาลฎีกาฯไปหมดแล้วเช่นกัน
ส่วนนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความและผู้รับมอบอำนาจนายทักษิณ กล่าวว่า ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ตนและทีมทนายความก็จะเดินทางไปศาลฎีกาฯ ในส่วนประเด็นชี้แจงเราก็ทำเตรียมไปชี้แจง เนื่องจากการพิจารณาคดีนี้เป็นรูปแบบลักษณะคดีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เตรียมชี้เเจงในส่วนที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายในขณะต้องรับโทษตามความเป็นจริง ต้องดูว่าภายหลังจากศาลได้รับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว ศาลจะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรหรือมีประเด็นอะไรเพิ่มหรือไม่
นายวิญญัติ กล่าวอีกว่า ตนเป็นทั้งทนายความและในฐานะผู้รับมอบอำนาจสามารถกระทำการแทนตัวการได้ ในที่กฎหมายให้กระทำการแทนได้ ส่วนมวลชนหรือผู้สนับสนุนก็คาดว่าจะไม่เดินทางไปศาล ทำคดีมาก็ไม่เคยมีลักษณะที่จะนำมวลชนไปศาล ทนายทำหน้าที่ทนาย ไม่ใช่ผู้นำมวลชน ที่ผ่านมาทำคดีโดยยึดตามหลักกฎหมาย เป็นไปตามขั้นตอน สำหรับนายทักษิณก็จะไม่ได้เดินทางไปศาลด้วย เนื่องจากศาลฎีกา ยังไม่ได้มีหมายเรียกมา จะต้องใช้สิทธิชี้แจงต่อศาลตามกระบวนการ โดยก่อนหน้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลาส่งเอกสารไต่สวนไปอีก 30 วัน ซึ่งศาลฎีกาฯ อนุญาตจนถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้