'พิธา' ชี้ช่องถก ARF ก.ค. ทางออกความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา

'พิธา' ไม่อยากเชื่อ 'รมต.มาริษ' บอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์มากกว่าหลักการ ชี้ประชุม ARF ก.ค.นี้ ทางออกความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2568 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นถึงกรณีนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์มากกว่าหลักการ บางครั้งเราก็ต้องเล่นนอกกติกา เรายึดกติกามากไป โลกปัจจุบันนอกเหนือกติกาไปเยอะ" นั้น
นายพิธา ระบุว่า ในโลกที่ “ไร้หลัก” ประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ ยิ่งต้อง “ยึดหลัก” ให้มั่น ช่วงที่ผ่านมา นั่งเฝ้าติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และได้แลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตในอาเซียนหลายคน เพื่อมองหา”ทางลง“ หรือ “de-escalation steps” หรือ ”End game“ ชั่วคราว ที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายลดความขัดแย้งลงอย่างสันติ และไม่เสียหน้า
แล้วสบเห็นว่า ASEAN Regional Forum (ARF) ที่จะมีประชุมอีกครั้งในอีกประมาณหนึ่งเดือน (July) ที่มาเลเซีย จึงคิดว่าน่าจะเป็นเวทีที่ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะ ARF เวทีความมั่นคงระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1994 ถูกออกแบบมาเพื่อ “การทูตเชิงป้องกัน” เป็นพื้นที่ให้ประเทศในภูมิภาคได้เปิดใจพูดคุย ก่อนที่ความขัดแย้งจะลุกลามโดยเฉพาะ และเวทีนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของ Treaty of Amity and Cooperation (TAC) - Amity แปลว่า ไมตรีจิต คือ สนธิสัญญาของอาเซียนที่เน้นห้ามใช้กำลัง และยืนยันให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีในภูมิภาคนี้
นายพิธา ระบุด้วยว่า ยิ่งได้ย้อนหลังไปดูว่าประเทศกัมพูชามีประชุมหรือมีถ้อยแถลงอะไรบ้างยิ่งน่าจะเตือนใจทั้งสองฝ่ายได้ดีเลยแน่นอนว่า หลายคนอาจตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของอาเซียน แต่ในครั้งนี้ เชื่อว่านี่คือหลักการที่ชอบธรรม เป็นสากล และควรถูกหยิบใช้โดยเฉพาะกับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
"ส่วนตัวยังไม่อยากเชื่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจะพูดแบบนี้ 1 เดือนก่อนการประชุม ARF ยิ่งเทียบว่ากัมพูชามี International narrative ไปทาง ICJ เราก็ควรมี International narrative ของเราที่มีความชอบธรรมสากลเท่ากันหรือมากกว่าครับ" นายพิธา ระบุ
ข้อมูลจาก: Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์