‘แพทองธาร’กรำศึกใน ศึกนอก วัดเหลี่ยมชายแดน วัดใจปรับครม.

การขึ้นสู่ตำแหน่งของแพทองธาร เผชิญงานยากรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจปากท้อง แรงกระเพื่อมทางการเมือง หรือแม้แต่การรับน้องของเพื่อนบ้าน ที่ยังต้องอาศัยประสบการณ์ ชั่วโมงบินที่สูง ไม่เช่นนั้น การรับมือหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน อาจจะหนักไปสำหรับนายกฯ เจน Y
KEY
POINTS
- สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไว้ใจอะไรไม่ได้ แค่คำว่าถอนกำลังทหารยังเลี่ยงใช้ อ้างว่าแค่ปรับทัพ
- บรรยากาศที่แม้จะดูดีขึ้นตามลำดับ แต่มาตรการตอบโต้มายังฝ่ายไทย มีเป็นระลอก และไทยก็พร้อมสวนทุกดอกแล้วบอกเพื่อนกัน
- เกมปรับครม. ก็ต้องวัดใจ แพทองงธาร 2เงื่อนไงสำคัญกับพรรคร่วมฯ ยึดกระทรวงมหาดไทย และศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีของคนในรวมไทยสร้างชาติ
สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่สงบลงชั่วคราว ซึ่งหลายภาคส่วนต่างไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ เพราะจะยิ่งสร้างความเสียหาย แต่คนอารมณ์ค้างก็มีไม่น้อย ที่ต้องการให้กดดันตอบโต้เพื่อนบ้านผู้แสนดีอย่างสาสม
ท่าที รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ท่องแนวทางสันติวิธี ยึดกลไกทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ มาตั้งแต่ต้น เล่นบทหล่อ เอาน้ำเย็นเข้าลูบอีกฝ่ายที่กำลังร้อน แต่ผู้นำเพื่อนบ้านคู่กรณี กลับจะยิ่งวางกล้าม แอ็กอาร์ตแข็งกร้าวมากขึ้น ตรงนี้ก็ยิ่งสร้างแรงกดดันภายในของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้องไม่ยอมให้เขาลูบหน้าท้าทาย
กระทั่ง รัฐบาลไฟเขียวให้กองทัพ และหน่วยงานที่รับผิดชอบหน้างาน พิจารณามาตรการที่เหมาะสม ว่าจะต้องปะทะหรือไม่อย่างไร
แต่สุดท้ายสถานการณ์ผ่อนคลายจากมาตรการเปิด-ปิดด่านชายแดน ขู่ตัดไฟจนอีกฝ่ายชะงัก
ศึกนอกยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจปะทุอีกรอบหลังวง JBC 14 มิ.ย.นี้ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่า เส้นทางข้างหน้าจะมีหลุมพรางอะไรให้ต้องเจออีกหรือไม่
หลังสถานการณ์ดูจะคลี่คลายได้แค่วันเดียว กัมพูชาก็มีมาตรการตอบโต้ไทย ลดระยะเวลาพำนักในกัมพูชาของคนไทยจาก 60 วัน เหลือ 7 วัน
หรือกรณีที่กระทรวงกลาโหมกัมพูชาออกแถลงการณ์ ไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่อธิปไตย และพื้นที่ที่ยึดครองมานาน
ส่วนการประชุม JBC พร้อมเข้าร่วมเพื่อเจรจาปักปันเขตแดน โดยไม่ทิ้งไพ่ตายลากขึ้นศาลโลก กรณีจำเป็นในพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโตช ปราสาทตาควาย และพื้นที่มุมไบ ดังนั้น สถานการณ์ชายแดนยังไว้ใจอะไรไม่ได้
ศึกในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ เกมวัดใจครั้งสำคัญอยู่ที่แพทองธาร กับการปรับ ครม.ครั้งแรกในชีวิตที่แสนหนักหน่วง
เดิมพันยึดเก้าอี้มหาดไทย จากอนุทิน ชาญวีรกูล จะราบรื่นเรียบร้อย หรือมีโซลูชั่นที่ดีกว่าพิมพ์เขียวของทักษิณ ชินวัตร
ทว่า อนุทิน ที่สะกิดเตือนสติบิ๊กรัฐบาลทั้งหลาย ให้หวนนึกถึงปฏิญญาช็อกมิ้นต์ เมื่อครั้งฟอร์มรัฐบาล เพื่อไทยเองไม่ใช่หรือที่เชิญภูมิใจไทยเข้าร่วม ไม่ใช่ภูมิใจไทยเดินไปขอร่วม
สัญญาณจากสีน้ำเงินที่ส่งออกไป ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ยอมปล่อย มท.1 ให้หลุดมือ ถึงอย่างไรก็ต้องยึดดีลเดิมที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น
อีกนัยหนึ่งที่มองได้เช่นเดียวกันคือ เงื่อนไขจูงใจให้อนุทิน ยอมลุกจากกระทรวงคลองหลอดนั้น ยังไม่เร้าใจพอ เลยต้องส่งสัญญาณแสดงท่าทีฮึดฮัดออกไป
งานหนักจึงอยู่ที่แพทองธาร จะบริหารจัดการความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างไร นอกจากมหาดไทย ที่เพื่อไทยอยากได้
นายทุนบางคนก็อยากได้อำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคร่วมฯ การเดินเกมเขี่ยผู้บริหารรวมไทยสร้างชาติบางคน เพื่อเปิดทางดันสุชาติ ชมกลิ่น จาก รมช.พาณิชย์ และคนของทุน ฮุบโควตาว่าการของพรรค
ต้องจับตาว่า การเล่นใหญ่ของสุชาติ และเครือข่ายเบื้องหลัง ที่เดินแรงเปิดหน้าชก มีเป้าหมายเพื่อยึดกุมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ แต่หากทำไม่สำเร็จ ก็ยังมีพรรคโอกาสใหม่รองรับ แถมเสบียงเป็นถุงเป็นถัง
การขึ้นสู่ตำแหน่งของแพทองธาร เผชิญงานยากรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจปากท้อง แรงกระเพื่อมทางการเมือง หรือแม้แต่การรับน้องของเพื่อนบ้าน ที่ยังต้องอาศัยประสบการณ์ ชั่วโมงบินที่สูง ไม่เช่นนั้น การรับมือหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน อาจจะหนักไปสำหรับนายกฯ เจน Y