'นักวิชาการ มธ.' แนะ 'รัฐบาล' เตรียมแผนรับมือภัยสงครามชายแดนไทย

"คณบดีสังคมสงเคราะห์ มธ." ประเมินสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ไม่ควรนอนใจ แนะให้เตรียมพร้อมรับมือภัยสงคราม เน้นกลุ่มเปราะบาง
รศ. ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์จะผ่อนคลาย แต่ประเทศไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือ ชะล่าใจ และควรเร่งเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนที่อาจจะได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการซักซ้อมแผนรับมือกับภัยพิบัติสงคราม อาทิ กำหนดจุดรวมพล จุดหลบภัย แผนการอพยพ การดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางเพราะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบสูงสุด ทั้ง เด็ก คนชรา ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ การจัดทำแผนที่ชุมชนและมาตรการชุมชนเมื่อเผชิญเหตุ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความพร้อม ไม่ตื่นตระหนก ไม่สับสนหรือขาดสติในขณะที่เกิดเหตุ
รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่หรือชุมชนต้องดำเนินการคือการจัดทำระบบเตือนภัยพิเศษ หรือกำหนดสัญลักษณ์อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างในกรณีของผู้พิการทางสายตา ควรมีการนัดแนะทิศทางตามเข็มนาฬิกา และจำนวนก้าวที่เดิน เพื่อพาตัวเองไปสถานที่หลบภัย รวมทั้งการจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้ทราบพิกัดว่าในแต่ละหลังคาเรือนมีผู้อยู่อาศัยกี่คน อยู่ตรงจุดไหนของหมู่บ้าน มีกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนก่อนหรือไม่ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ มีความสำคัญในการบริหารทรัพยากร เรียงลำดับความสำคัญการช่วยเหลือในภาวะภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"สำหรับประชาชนที่อยู่ในอาศัยในพื้นที่เสี่ยง คำแนะนำคือควรใช้เวลานี้ตระเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน ซึ่งมีอุปกรณ์ยังชีพพื้นฐาน เอกสารสำคัญ ยาสามัญประจำตัว หากเกิดเหตุก็สามารถหยิบกระเป๋าใบนี้แล้วเดินทางไปยังพื้นที่หรือศูนย์หลบภัยได้ทันที" รศ.ดร.อัจฉรา กล่าว
รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวต่อว่าในช่วงเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสงคราม อาจมีประชาชนบางส่วนไม่ประสงค์อพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ด้วยเหตุผลคือห่วงบ้านเรือนและที่พักอาศัยตนเอง ดังนั้นควรให้ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนภัย หรือแอปพลิเคชันช่วยเหลือในการดำรงชีวิต เช่น แอปพลิเคชัน Be My Eyes ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้สามารถขอความช่วยเหลือด้านการมองเห็นจากอาสาสมัครผ่านการเชื่อมต่อวิดีโอสด
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการวางแผนและเตรียมการที่ดีควรเชื่อมโยงไปถึงช่วงเวลาหลังสงครามด้วย โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามควรมีนักสงคมสงเคราะห์ในการเข้าไปดูแลผู้ประสบภัย และช่วยประสานความร่วมมือขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำคัญที่สุดคือต้องมีทีมสหวิชาชีพ เช่น นักจิตบำบัด จิตแพทย์ เข้าไปคุ้มครองสิทธิ และพิทักษ์สิทธิให้กับกลุ่มเปราะบาง.