นายกฯ สั่งการบ้านทูต ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกยกระดับบทบาทไทยในเวทีโลก

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก กำชับต่อยอดจุดแข็งของประเทศ แสวงหาและช่วงชิงโอกาสใหม่ๆ
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายบันทึกวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจําปี 2568 ภายใต้หัวข้อ “การทูตเชิงรุกที่ตอบโจทย์ประชาชน: จากนโยบายสู่การปฏิบัติ”
นายกฯ กล่าวว่า โลกปัจจุบันกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยกำลังปรับสู่โครงสร้างโลกแบบหลายขั้วอำนาจ (Multipolar world) ระบบพหุภาคีที่มีกติการะหว่างประเทศ ค่านิยมและหลักการสากลเป็นแกนกลางกำลังเสื่อมถอยลง การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจรุนแรงขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี การแย่งชิงทรัพยากร ส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศและประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกฯ ฝากให้ผู้เข้าประชุมทุกท่านร่วมกันหาคำตอบ ประเทศไทยจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรในบริบทการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและมีความท้าทายอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้ประโยชน์สูงสุด โดยกำชับว่าภายใต้บริบทปัจจุบันไทยต้องเน้นในสองเรื่อง
1. การเสริมสร้างและต่อยอดจุดแข็งของประเทศ
2. แสวงหาและช่วงชิงโอกาสใหม่ๆ ภายใต้ความท้าทายได้อย่างฉับไวและทันท่วงที
ประเทศไทยมีจุดยืนทางการทูตชัดเจนคือความเป็นมิตรเข้าได้กับทุกฝ่าย มีท่าทีไม่สุดโต่ง ไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ มุ่งมั่นทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยรักษาผลประโยชน์แห่งชาติไว้ได้แล้ว ยังสร้างโอกาสให้ไทยอย่างมหาศาลในบริบทโลกปัจจุบัน
ทิศทางการต่างประเทศไทยสอดคล้องกับทิศทางของอาเซียนนั่นคือ 1. มุ่งหาโอกาสและเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศและภายในภูมิภาคให้มากขึ้น 2. การหาเพื่อนและหุ้นส่วนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ 3. ยึดมั่นในระบอบพหุภาคีและระบบการค้าพหุภาคี 4. มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบ (commitment) ในการรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นายกฯ ขอให้ทูตร่วมกันขับเคลื่อนการทูตเชิงรุกที่ฉับไวและเป็นเอกภาพมากขึ้น
“ขณะเดียวกันสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานยังเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกโดยเฉพาะการเร่งจัดทำเอฟทีเอกับประเทศ/กลุ่มประเทศเป้าหมายเพื่อรักษาโอกาสในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร และภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว” นายกฯ กล่าวและว่า ในเวลาเดียวกันต้องใช้โอกาสนี้สตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ผ่านการดึงดูดการลงทุนในซัพพลายเชนของทุกขั้วในอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรีรถไฟฟ้า ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เอไอ เคมี ชีวภาพ
นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญทางกายภาพผ่านจุดเด่นด้านที่ตั้งทางจุดยุทธศาสตร์ของไทยอย่างโครงการแลนด์บริดจ์ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และส่งเสริมการยกระดับทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
นายกฯ ขอให้ที่ประชุมใช้โอกาสนี้ร่วมกันระดมความคิด กำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการต่างประเทศของไทยตามแนวนโยบายรัฐบาล ในบริบทโลกที่กำลังแปรผันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็น “relevant player” ในประชาคมโลก และสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีต่อไป
ด้านนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า โลกเปลี่ยนโครงสร้างเป็นแบบหลากหลายขั้ว มีสหรัฐ-จีนเป็นมหาอำนาจหลัก แต่ประเทศอื่นๆ ก็มีความสำคัญมากขึ้นไทยจำต้องคำนึงถึงทุกภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์มากกว่าหลักเกณฑ์หรือกติกาเดิม ตอนนี้ผู้เล่นไม่ได้มีแต่นักการทูต แต่ยังมีภาคเอกชนและประชาชนที่ภาครัฐจะต้องบูรณการมาไว้ให้ได้ โดยที่รัฐบาลเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก
ทั้งนี้ การประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกประจำปี2568 ระหว่างวันที่8-14มิถุนายน2568 ที่กรุงเทพฯ มีเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่อุปทูตและรักษาการกงสุลใหญ่เข้าร่วมจำนวน100 คนจากสถานเอกอัครราชทูต64 แห่งสถานกงสุลใหญ่29 แห่งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การระหว่างประเทศ4 แห่งและสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย1 แห่ง นอกจากนี้ยังจะมีผู้แทนของหน่วยงานทีมประเทศไทยในต่างประเทศเข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกลด้วย