ไทม์ไลน์-3 แนวโน้มคำพิพากษา บ่วง ‘ยิ่งลักษณ์’ คดีข้าว 3.5 หมื่นล.

เปิดไทม์ไลน์ ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้ความเสียหายคดีจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ศาลปกครองสูงสุดนัดชี้ขาดวันนี้ ปี 64 เธอชนะ ผ่านไป 4 ปีวันนี้นัดชี้ชะตาครั้งสุดท้าย
KEY
POINTS
- เปิดไทม์ไลน์ ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้ความเสียหายคดีจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ศาลปกครองสูงสุดนัดชี้ขาดวันนี้
- ปี 59 หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้กระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการรับผิดทางละเมิด ไล่บี้ค่าเสียหายคดีข้าว
- ในส่วน ‘ยิ่งลักษณ์’ รับ 20% ราว 3.5 หมื่นล้านบาท จากยอดทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท กังขาน้อยกว่าตัวเลขในศาลฎีกาฯที่คำนวณไว้ 2.8 แสนล้านบาท
- ‘ยิ่งลักษณ์’ ยื่นฟ้องกลับให้เพิกถอนคำสั่ง ลั่นวาจาหน้าศาล “ชั่วชีวิตก็ชดใช้ไม่หมด”
- ปี 64 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เธอชนะ ผ่านไป 4 ปีวันนี้นัดชี้ชะตาครั้งสุดท้าย
22 พ.ค. 2568 นอกจากจะเป็นวันครบรอบ “11 ปีรัฐประหาร” โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ยังเป็น “วันชี้ชะตา” ชีวิตทางการเมืองของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2554-2557 อีกด้วย
เพราะวันนี้ศาลปกครองสูงสุด นัดฟังคำพิพากษา คดีที่เธอยื่นฟ้อง นายกฯกับพวกรวม 9 คน (สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ) ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ให้เธอชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ในคดีจำนำข้าว วงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
โดยคดีนี้ เธอถูกหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ สั่งให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ต่อมามีการคำนวณวงเงินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว อย่างน้อย 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจน้อยกว่าตัวเลขที่แท้จริง เพราะในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกจำคุก 5 ปี ฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวนั้น มีการเปิดเผยตัวเลขตอนไต่สวนว่า โครงการนี้อาจเสียหายมากถึง 2.8 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดีตัวเลข 1.7 แสนล้านบาทที่น้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง เธอยังถูกพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายแค่ 20% ของความเสียหายทั้งหมด นั่นคือราว 3.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แม้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในขณะนั้น จะพยายามชงเรื่องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผล
โดยคณะกรรมการรับผิดทางแพ่งมีมติเห็นว่า ประเด็นความเสียหายควรคิดคำนวณตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 และปี 2556/2557 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกี่ยวกับความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าวด้วย
จึงถือได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรได้รับรู้รับทราบความเสียหายนับตั้งแต่เวลาดังกล่าวเป็นต้นมา ซึ่งความเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงินจำนวน 178,586,365,141.17 บาท พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นการจงใจกระทำละเมิด จึงให้รับผิดในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายดังกล่าว คิดเป็นจำนวน 35,717,273,028.23 บาท ในส่วนของความเสียหายที่เหลือให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหาผู้รับผิดต่อไป
สำหรับความเสียหายที่เหลืออีก 80% ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่ และเรียกเก็บข้อมูลผู้เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวตั้งแต่ข้าราชการระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ จากทุกจังหวัดแล้ว
หลังจากนั้น “ยิ่งลักษณ์” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่เรียกค่าเสียหายจากเธอ 3.5 หมื่นล้านบาท พร้อมขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในการอายัดทรัพย์สิน
“ยิ่งลักษณ์” ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งเมื่อ ม.ค. 2560 (ก่อนศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี และเธอได้หลบหนีไปในเดือน ก.ย. 2560) ภายหลังเข้ารับการไต่สวนชั้นศาลปกครองกลางตอนหนึ่งว่า ““ถ้ามีการอายัดทรัพย์สิน จะเกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เป็นหนี้ก้อนโต ใช้ชั่วชีวิตก็ไม่หมด ถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่รู้จะบรรยายความเดือดร้อนยังไง บรรยายไม่ถูกจริง ๆ”
กระทั่งต่อมาในปี 2566 ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (ยิ่งลักษณ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 (กรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ 8 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ที่ 9) ในการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ตามหนังสือลับ ด่วนที่สุดที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2562 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โดยศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิด และจำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิด ในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิด มากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้เดียวเป็นผู้กระทำ โดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ
ผ่านไปราว 4 ปีคดีนี้ถึงชั้นศาลปกครองสูงสุด โดยความเป็นไปได้มี 3 แนวทางคือ 1.พิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแม้แต่บาทเดียว
2.พิพากษากลับคำสั่งศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) ส่งผลให้คำสั่งของกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ และคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่ผ่านมาเลิกคุ้มครองชั่วคราว ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องถูกบังคับคดีชดใช้ค่าเสียหายราว 3.5 หมื่นล้านบาท
3.พิพากษาแก้ไขคำสั่งศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) โดยอาจเป็นไปได้ว่ามีการแก้ไขตัวเลขความเสียหายให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้น้อยลง หรือมากขึ้น แล้วแต่ดุลพินิจของศาล
ทั้งหมดคือความเป็นไปได้ในแนวโน้มของคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดวันนี้ บทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม