ยุบสภา2นายกฯชินวัตร ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ การเมืองเดือด-รัฐประหาร

ผู้ที่ถืออำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการประกาศยุบสภา คือ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร
KEY
POINTS
- มีคำถามว่า กรณีของ "ภราดร" ที่พูดกลางสภาฯ จนถูกโยงไปที่สัญญาณยุบสภา จะเป็นการผิดคิวรอบสองต่อจากกรณีของ “ไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หรือแท้จริงแล้วเป็นความตั้งใจเพื่อส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกันแน่?
- ผู้ที่ถืออำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการประกาศยุบสภา คือ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร แต่การทิ้ง “ไพ่ตาย” ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ “พรรคแกนนนำ” เล็งเห็นแล้วว่า กุมแต้มต่อ หรืออีกหนึ่งเงื่อนไข คือการเมืองบีบบังคับจนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จนต้อง “ล้างกระดาน” เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่
- ด้วยยี่ห้อ “ชินวัตร” มีบทเรียนการเป็นรัฐบาลมาแล้ว5ครั้ง จำนวนนี้มีการยุบสภา2ครั้งคือ“รัฐบาลทักษิณ2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ทั้ง2ครั้งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่สุกงอม จนกระทั่งนำไปสู่การ “รัฐประหาร”
- ข่าวคราวยุบสภาเอาเข้าจริงอาจเป็นเพียงแค่ “เกมต่อรอง” ที่ต่างฝ่ายต่างอ่านทางการได้เป็นอย่างดี ฝั่ง “ทักษิณ”รู้ดีว่าเวลานี้คงไม่มีพรรคไหนพร้อมเลือกตั้ง ขณะที่ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยก็อาจอ่านเกมออกว่ายังไม่ถึงเวลาที่“นายกฯอิ๊งค์” จะทิ้งไพ่ตายเช่นเดียวกัน
“ครั้งหน้าเราก็ไม่รู้ว่าจะมีอีกสมัยประชุมหรือเปล่า สมัยนี้สุดท้ายหรือยังก็ไม่รู้นะครับ ขอให้ยังไม่สุดท้ายก็แล้วกันนะครับ”
“ภราดร ปริศนานันทกุล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่10เ.มย. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม
คล้อยหลัง2วัน “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรม.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำทีม “บิ๊กคลองคลอด” ลงพื้นที่จ.อ่างทอง เปิดงาน “มหกรรมเทศกาลอาหารและศิลปวัฒนธรรมไทย เที่ยวสุขใจวัดนางในถิ่นอ่างทอง 2568” โดยมี “3พ่อลูกปริศนานันทกุล” สมศักดิ์-ภราดร-กรวีร์ บ้านใหญ่อ่างทอง ให้การต้อนรับ
จังหวะการลงพื้นที่ของ “หัวหน้าพรรคสีน้ำเงิน” มองเผินๆอาจเป็นแค่อีเวนต์โปรโมทงานกระทรวงคลองหลอด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ทว่าในมิติการเมืองแน่นอนว่า การลงพื้นที่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการเปิดประเด็นยุบสภาจย่อมถูกตีความในแง่ของการส่งสัญญาณ จากพรรคร่วมรัฐบาลท่ามกลางแรงกระเพื่อมที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
มีคำถามว่ากรณีของ "ภราดร" ที่พูดกลางสภาจะเป็นการผิดคิวรอบสองต่อจากกรณีที่ “ไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศกลางสภาเป็นลูกชายคนโต “เนวิน-กรุณา ชิดชอบ” ไม่มีวันเห็นด้วยกับ กาสิโน หรือแท้จริงแล้วเป็นความตั้งใจเพื่อส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกันแน่?
แน่นอนว่า การส่งสัญญาณที่เกิดขึ้นกลับยิ่งเป็นการตอกย้ำเกมต่อรองในซีกรัฐบาลที่นับวันจะยิ่งหนักข้อขึ้นทุกวัน
จับอาการ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทยล่าสุด พูดถึงปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง ขณะนี้ที่ต้องแก้ไขได้ด้วยกลไกการเมือง
“เรื่องครบเทอมไม่มีปัญหาหรอก วันนี้มันไม่มีปัญหาอะไรเพราะว่าภูมิใจไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นพรรคที่ใหญ่อันดับสองของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็มีจำนวนมากพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งภูมิใจไทยก็รู้ดีว่าไม่มีปัญหาอะไรถ้าหากจะมีการไม่เข้าใจกัน”
ท่าทีของสทร. “ทักษิณ” เสมือนส่งสัญญาณแบบกลายๆการยุบสภายังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน
จริงอยู่ผู้ที่ถืออำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการประกาศยุบสภา คือ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร หากจะเทียบเคียงการเมืองในอดีต ซึ่ง “พรรคแกนนำรัฐบาล” มักจะหยิบ “ไพ่ตาย” ยุบสภา มาใช้เพื่อกำราบพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสยบแรงกระเพื่อม
แต่การทิ้ง “ไพ่ตาย” ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ “พรรคแกนนนำ” เล็งเห็นแล้วว่า เป็นฝ่ายกุมแต้มต่อทางการเมืองรวมถึงคะแนนนิยมในเวลานั้น หรืออีกหนึ่งเงื่อนไขที่นำไปสู่การยุบสภา คือการเมืองบีบบังคับจนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จนต้อง “ล้างกระดาน” เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่
ด้วยยี่ห้อ “ชินวัตร” มีบทเรียนการเป็นรัฐบาลมาแล้ว5ครั้ง ครั้งแรก ในสมัย “รัฐบาลทักษิณ1” ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำรัฐบาล "ทักษิณ" บริหารราชการแผ่นดินจนครบเทอม
ต่อมาในสมัย “รัฐบาลทักษิณ2” เป็นรัฐบาลได้เพียง1ปีเศษ เป็นที่รู้กันว่า การเมืองเวลานั้นเกิดวิกฤตการณ์การเมือง ก่อกำเนิดกลุ่มการเมืองทั้งกลุ่มต่อต้านทักษิณ ภายใต้ชื่อ“กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”และกลุ่มสนับสนุนทักษิณภายใต้ชื่อ “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือนปก. ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.จนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่ง“ทักษิณ” ประกาศยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ.2549 ภายใต้การเมืองที่สุกงอมจึงนำมาสู่เหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549 และมีการยุบพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา
ถัดมาครั้งที่สาม ในปี2550 ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ตั้งแต่“รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช” ต่อเนื่องไปถึงรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ภายหลังมีการยุบพรรคพลังประชาชน จากข้อกล่าวหาเข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง
การเมืองเกิด“จุดพลิก” ครั้งสำคัญ เมื่อพรรรประชาธิปัตย์ จับมือกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ชิงเกมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมดัน“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นนายกฯ จนเกิดวาทะกรรม “มันจบแล้วครับนาย”
ทว่าหลัง “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯราว2ปี ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่มนปช.ในปี2553 นำมาสู่การสลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต99ศพ เวลาต่อมาวันที่10 พ.ค.2554 “อภิสิทธิ์” ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น “พรรคเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้รับชัยชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทว่าหลังเป็นรัฐบาลได้ราว2ปี อย่างที่รู้กันเวลานั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเนื่องมาตั้งแต่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมาถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนำมาสู่การชุมนุมกลุ่มกปปส.นำโดย“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ร่วมกับสส.พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น
กระทั่ง“ยิ่งลักษณ์”ประกาศยุบสภาในวันที่ 9ธ.ค.2556 ต่อมาเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้ว14ครั้ง โดยการยุบสภาครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาวันที่20 มี.ค.2566 ก่อนครบวาระเพียง4วันซึ่งการยุบสภาในครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นเพียงการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น
กระทั่งเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า 5รัฐบาลภายใต้ “แบรนด์ชินวัตร” มีการยุบสภา2ครั้งคือ “รัฐบาลทักษิณ2” และ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”เ หนือไปกว่านั้น การยุบสภาทั้ง2ครั้งเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่สุกงอม จนกระทั่งนำไปสู่การ “รัฐประหาร” เช่นเดียวกัน
เป็นเช่นนี้ต้องจับตาว่าภายใต้แรงต้านกาสิโนนอกสภา ซึ่งถูกเปรียบเทียบว่า อาจซ้ำรอยนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ถึงเวลาจริงอาจต้องไปลุ้นหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯหรือในอีก3เดือนข้างหน้า ซึ่งยังมีหลายขั้นตอนที่ต้องไปวัดพลังกันอีกยาว
ขณะที่สถานการณ์ของ“นายกฯอิ๊งค์”และพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลเวลานี้กำลังเสียรังวัดในหลากหลายด้าน อาจจำเป็นต้องปรับแผนกู้เรตติ้งเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบให้ได้เสียก่อน ฉะนั้นการโยนไพ่ตาย “ยุบสภา” จึงอาจยังไม่ใช้ช้อยสุดท้ายที่จะหยิบมาใช้ในเวลานี้ต่างจากยุครัฐบาลทักษิณ ผู้เป็นพ่อ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผู้เป็นอา ที่เจอเกมการเมืองไล่ต้อนจนกระทั่งต้องเลือกทิ้งไพ่ยุบสภาในที่สุด
จะว่าไปข่าวคราวยุบสภาที่เกิดขึ้นเวลานี้เอาเข้าจริงอาจเป็นเพียงแค่ “เกมต่อรอง” ที่ต่างฝ่ายต่างอ่านทางการได้เป็นอย่างดี ฝั่ง “ทักษิณ”ล่าสุดยืนยันเสียงแข็งมั่นอกมั่นใจรัฐบาลจะอยู่ครบเทอม นั่นอาจเป็นเพราะรู้ดีว่าเวลานี้คงไม่มีพรรคไหนพร้อมเลือกตั้ง ขณะที่ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยก็อาจอ่านเกมออกว่ายังไม่ถึงเวลาที่“นายกฯอิ๊งค์” จะทิ้งไพ่ตายเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับความเห็นในมุมมอง “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็น1ใน14นายกฯที่ประกาศยุบสภา ประเมินถึงกระแสข่าวการยุบสภาที่เกิดขึ้นเวลานี้ว่า คนที่เป็นรัฐบาลถ้าจะยุบสภาน่าจะต้องประเมินในสถานการณ์ที่ตนเองได้เปรียบ หรือย่างน้อยมีข้อผูกมัดที่ได้ตกลงอะไรกับใครหรือสัญญากับประชาชนไว้
“การยุบสภาและเข้าสู่การเลือกตั้งในภาวะที่กำลังถูกโจมตีมากๆและถูกมองว่าเสียเปรียบจะยุบทำไม ผมเชื่อว่าการปิดสมัยประชุม การมีเวลา90วันในเรื่องของทรัมป์จะเป็นเวลาที่จะทำให้รัฐบาลมีเวลาหายใจและไปตั้งหลักหรือเจรจาประนีประนอม”
อดีตนายกฯ ยังมองว่า ตราบใดที่พรรคต่างๆที่เป็นรัฐบาล ไม่พร้อมที่จะสลับขั้วเปลี่ยนขั้วกันอีก เมื่อใดที่รัฐบาลไปด้วยกันไม่ได้ก็ต้องไปเลือกตั้ง แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีพรรคหนึ่งพรรคใดในรัฐบาลคิดว่า ไปเลือกตั้งแล้วดี เมื่อนั้นจึงจะเห็นภาพการแตกหัก