'ปชน.' ชี้ปมค่าไฟแพง เหตุเอื้อทุนพลังงาน - 'รมว.พลังงาน' โต้ไม่มี

"สส.ปชน." รุมสับ "นายกฯ" ปมไม่แก้ราคาไฟฟ้าแพง เหตุมีดีลเอื้อประโยชน์ให้ทุนพลังงาน เผยเซ็นซื้อไฟฟ้าเขื่อนแพง เพราะเป็นเพื่อนพ่อ ด้าน "รมว.พลังงาน" โต้ไม่มีเอื้อ
ที่รัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในช่วงเย็น สส.พรรคประชาชน ฐานะฝ่ายค้านในสภาฯ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งตั้งข้อสังเกตต่อการเดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่ส่อว่าทุจริตเชิงนโยบาย เนื่องจากมีอัตราการรับซื้อที่สูงผิดปกติ และส่อเอื้อให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่มีความใกล้ชิดกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมถึงตระกูลชินวัตร
โดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า นายกฯ ตั้งใจโกงค่าไฟฟ้าประชาชน จำนวน 1 แสนล้านบาท เพราะเดินหน้าสานต่อการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ แม้จะชะลอโครงการ 3 เดือน แต่ไม่มีคำชี้แจงจากนายกฯ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หรือเป็นเทคนิคให้เรื่องเงียบเพื่อให้ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนได้ อย่างไรก็ดีที่มาของโครงการดังกล่าวไม่พบว่ามีการประมูลแข่งขัน เพราะกำหนดราคารับซื้อไว้ ทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ของรัฐบาลทำให้กลุ่มทุนพลังงานได้กำไร
“รัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกฯ และพบว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานะบิดาของนายกฯ ออกรอบตีกอล์ฟกับกลุ่มทุนพลังงานหลายครั้ง ทั้งนี้การมีเพื่อนเป็นเจ้าสัว เป็นก๊วนกอล์ฟ ไม่ใช่เรื่องผิด หากรัฐบาล และนายกฯไม่สานต่อ หรือเอื้อประโยชน์” นายวรภพ กล่าว
นายวรภพ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.แพทองธาร เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่สนิทสนมกับครอบครัวของนายกฯ คือ 1.เดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าระยะ 2 จำนวน 3,600 เมกะวัตต์ ที่ทุจริตนโยบาย 2.เร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าระยะที่ 1 รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ให้เพื่อนสนิทของนายกฯ และบิดา ซึ่งเป็นความเสียหายที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะทำให้กลุ่มทุนผูกขาดเติบโต แข่งขันหารายได้จากการผูกขาด หาประโยชน์จากคนในชาติ
ขณะที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า นายกฯ ฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เก่งแต่พิทักษ์ผลประโยชน์ของทุนพลังงาน ดูได้จากความล่าช้าของร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เหตุผลที่ล่าช้า เพราะติดเคลียร์ปัญหากับนายทุนผลิตโรงงานไฟฟ้า และยัดโครงการนายทุนในแผน เพื่อให้การันตีว่าโรงงานไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทานได้สร้างแน่นอน เพื่อช่วยนายทุนพลังงานทุกกลุ่ม ขณะที่เนื้อหาของร่างพีดีพีฉบับใหม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ทบทวนแต่ น.ส.แพทองธาร ฐานะประธาน กพช. ไม่สนใจ
“มีการวางแผนเชิงทุจริตเชิงนโยบายครั้งใหม่เพื่อเอื้อให้ทุนพลังงาน ให้หน่วยงานปั้นตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตสูงเกินจริง และไม่ตรงกับความจริงโดยอ้างถึงการเติบโตของประมาณการทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยกลุ่มทุนพลังงาน กว่า 4,400 เมกะวัตต์ หากเป็นแบบนั้นจะทำให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีก 16 โรง ซึ่งตีได้ว่านายกฯ กำลังทำให้นายทุนพลังงานมีกินมีใช้” นายศุภโชติ อภิปราย
นายศุภโชติ อภิปรายด้วยว่า นายกฯ ของไทยติดหรู ชอบใช้ของแพง โดยพบว่ามีการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลายแห่ง เช่น เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนเซกอง ที่มีราคาสูงเกือบ 3 บาท ซึ่งพบว่ามีบริษัทร่วมทุนเป็นชื่อบริษัทที่นายทักษิณ มีความสนิทสนม และมีการให้สัญญาสัมปทานยาวถึง 35 ปี ทั้งนี้หากต่อสัญญากับรายเดิมจะทำให้ค่าไฟมีค่าไฟถูกลง และทำให้ประเทศประหยัดเงินที่ใช้จ่ายค่าไฟจำนวนมาก กรณีที่นายกฯ ปล่อยเป็นแบบนี้ อย่าเอานิสัยส่วนตัวที่ติดหรู มาบริหารประเทศ โดยเลือกซื้อจากชื่อบริษัทที่ นายทักษิณ สนิท
นายศุภโชติ อภิปรายด้วยว่า รัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร พบการล็อกโควตาให้กับทุนพลังงาน จากเดิมที่มีการกำหนดโควตาให้ประชาชน ซึ่งร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ ไม่ขยายโควตาให้ประชาชน จาก 9,000 หลังคาเรือน ทั้งที่ร่างแผนว่ามีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 2.4 หมื่นเมกะวัตต์ มากกว่าเดิม 3 เท่า ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดสรรให้กับกลุ่มทุนพลังงานบางราย โดยเป็นการสมคบคิดระดับชาติ โดยนายกฯ ฐานะประธาน กพช. กับบริษัททุนพลังงานที่เป็นเพื่อนของบิดา
ต่อจากนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ชี้แจงว่า นายกฯ สนับสนุนให้ตนเดินหน้าโครงการราคาไฟฟ้า และน้ำมันแพง ซึ่งหลายเรื่องสามารถเดินหน้าได้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนายกฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ สิ่งที่หนักกว่านี้คือ ค่าพร้อมจ่าย ส่วนแผนพีดีพี ที่ไม่จบเพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย ส่วนการลงนามสัญญานั้นนายกฯ ไม่เคยลงนามอีกทั้งไม่เคยมีการประมูลใดๆ
“ข้อเท็จจริงไม่เป็นแบบนั้น นายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องตามที่ว่า หรือไม่เคยมีการเอื้อญัตติให้นายทุน หากรัฐบาลหรือผมเอื้อประโยชน์ คงไม่โดนสื่อมวลชนแซะทุกวันนี้ หากผมอยู่แล้วได้ประโยชน์จะเป็นแบบนี้หรือไม่ ตอนนี้กำลังหาทางแก้ปัญหาทั้งเอพี และอีพี ปัญหาตัวเลขที่เกิดขึ้นผมตกใจไม่ใช่แค่ 5 หมื่นล้าน แต่เป็นล้านล้าน ระยะเวลา 25 ปี ยอมรับปัญหาหนัก และต้องการแก้ปัญหา ผมยืนยันสิ่งที่ทำมาทั้งหมดเพราะการสนับสนุนของนายกฯ ดังนั้นสิ่งที่พาดพิงไม่จริง” นายพีระพันธุ์ ชี้แจง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์