'อดิศร' จ่อให้รางวัล 'ปปง.' เร่งสอบคดีฮั้วสว. เอาคนทุจริตออกไป

'อดิศร' จ่อให้รางวัล 'ปปง.' เร่งสอบคดีฮั้วสว. เอาคนทุจริตออกไป

'อดิศร' จี้ ปปง. เร่งสอบคดีฮั้วสว. ปมผิดฐานฟอกเงิน บอกหากทำได้-เอาคนทุจริตออกไป สภาฯมีรางวัลให้ ด้าน “รองเลขาธิการ ปปง.” บอกรอ ดีเอสไอ ส่งเรื่อง ยันทำงานตามกฎหมาย

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ช่วงของการพิจารณารับทราบผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ตอนหนึ่งนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคำถามต่อการดำเนินงานของ สำนักงาน ปปง. ต่อการตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีกระบวนการฮั้วการเลือก สว.  ซึ่ง ปปง.มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา แม้ว่าจะมีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 100% แต่ประชาชนสงสัย ทั้งนี้มีปรากฎการณ์การฮั้วการเลือก สว.​ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองแล้ว  ทั้งนี้ สว.มีอำนาจ คือ สภาสูง กลั่นกรอง เป็นที่ปรึกษาของสภาฯ มีอำนาจคัดสรร เลือกบุคคลไปทำงานในองค์กรอิสระ

“ผมอยากให้ ปปง. เมื่อรับเรื่องเป็นคดีพิเศษแล้วให้สืบสวนให้ทันท่วงที หากเกิดกรณีที่ สว.โหวตตก 2 บุคคลที่เสนอให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในอนาคตหากมีต้องมีคำถามว่าคุณสีอะไร ขณะเดียวกันรัฐมนตรีถูกร้องเรียนจาก สว. เป็นโรงลิเกหรืออย่างไร ดังนั้น ขอสอบถามว่า จะรับไว้เฉยๆ หรือเอาจริง หากทำได้ ผมว่ามีหลายคนในสภาฯ จะให้รางวัล เพื่อลดอำนาจ กกต. ลงมาและสอบสวนการฮั้วสว. ให้ ปปง.ทำเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยงดงาม เป็นอิสระ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน คนที่เป็นสว.ที่มาโดยสุจริตจะยืนตรงไหน คนที่ไม่สุจริตต้องออกไป ขอให้ทำให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงด้วย” นายอดิศร อภิปราย

ขณะที่นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการ ปปง. ชี้แจงว่า เรื่องฮั้วสว. ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษในส่วนของคดีอาญาฟอกเงิน โดยการทำงานของสำนักงาน ปปง. เบื้องต้นประสานงานความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ดีเอสไอ และ กกต. เพื่อดำเนินการต่อความผิดมูลฐาน

\'อดิศร\' จ่อให้รางวัล \'ปปง.\' เร่งสอบคดีฮั้วสว. เอาคนทุจริตออกไป

นายกมลสิษฐ์ ชี้แจงด้วยว่า สำนักงาน ปปง. ต้องบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันละปราบปรามการฟอกเงินอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในคดีมูลฐาน 23 ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง ที่กำหนดให้ การดำเนินงานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน กกต.เป็นผู้ส่งเรื่องมาที่ ปปง. ดำเนินการ แต่กรณีคดีอาญาฟอกเงิน จุดเริ่มต้น คือ ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษและอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนหากมีความคืบหน้าตามความผิดมูลฐาน ปปง.ต้องทำตามพ.ร.บ.ฟอกเงิน.