(ชื่อ)‘ทักษิณ’ ล่มซักฟอก ? ดีลลับ ตีกลับ ‘พรรคส้ม’

"ศึกซักฟอก" ถูกจับตา ขบวนการมวยล้ม ที่ตั้งต้นจากการไม่ยอมตัดชื่อ "ทักษิณ" ออกจากญัตติ สิ่งที่สังคมคิด คือ ข้อเท็จจริงเบื้องหลัง ที่อาจเป็นกระแสตีกลับ "พรรคประชาชน"
KEY
POINTS
Key Point :
- ไม่ว่าศึกซักฟอก "แพทองธาร" ครั้งแรกในเวทีสภาฯ จะเริ่มได้ ในวันที่ 24 มี.ค. หรือไม่
- ขณะนี้ ละครการเมือง เปิดฉาก "สงครามย่อย" ระหว่าง "ฝ่ายค้าน" และ "ประธานสภาฯ" ว่าด้วย ชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"
- การยืนกรานของ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ไม่ยอมบรรจุวาระ หากไม่แก้ข้อบกพร่องของญัตติ เป็นไปตามอำนาจ ที่ "ข้อบังคับการประชุม" ให้ไว้
- ทว่า "ฝ่ายค้าน" ยันว่า ญัตติที่มีชื่อ "ทักษิณ" เป็นไปตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และยังไม่ยอมแก้
- การถกเถียงกันในแง่กฎหมาย เป็นเพียงฉากหน้า แต่หลังม่าน ยังมีการ "ต่อรอง"
- โดยเฉพาะ กรอบเวลาและ เนื้อหาที่ ล่อแหลม หากถึงที่สุด "ศึกซักฟอก" ไม่เกิดขึ้น กระแสตีกลับ "พรรคประชาชน" อาจมี
- และกลายเป็นคำถามว่า ระหว่าง "การตรวจสอบ" กับ "ดีลลับ" พวกเขาเลือกอะไร?
นับถอยหลังจากวันนี้ ไปจนถึงวันที่ 17 มี.ค. หาก “พรรคประชาชน” ไม่แก้ไขญัตติขออภิปรายทั่วไปนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ที่มี “ข้อบกพร่อง” เพราะระบุ ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ไว้ในเนื้อหาญัตติ เท่ากับว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำหนด เป็นเบื้องต้น คือ วันที่ 24 มี.ค. จะไม่เกิดขึ้น
อาจทำให้มีเรื่องใหม่บันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ครั้งหนึ่ง “การยื่นซักฟอกรัฐบาล” มีอันต้อง “แท้ง” ไป
ทว่า เรื่องราวทั้งหมดอาจไม่ได้จบลงแบบนั้น
ระหว่างสัปดาห์นี้ ยาวไปจนกว่าจะปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 9 เม.ย. ยังมีเวลาที่ “2 ฝ่าย” จะได้ต่อรอง เนื่องจากการกำหนดปฏิทินซักฟอก 24 มี.ค.นั้น คือ วันอย่างไม่เป็นทางการ ที่เป็นเพียงการพูดคุยในชั้นของคณะกรรมการประสานงาน หรือวิป
โดยฟากคณะรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบรับ “ศึกซักฟอก” ของสภาฯ อย่างเป็นทางการ ตามประเพณีการเมืองที่ปฏิบัติมา
ปรากฏการณ์ที่ “ฝ่ายค้าน” นำโดย “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้ยื่นญัตติซักฟอก และเครือข่ายโต้แย้งและหักล้างความเห็นของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้มีอำนาจบรรจุวาระซักฟอก ที่ขอให้แก้ไขญัตติ โดยตัดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกจากเนื้อหาญัตติ
ฝ่ายค้านเขียนบรรยายคำเสนอญัตติซักฟอก นายกฯ ไว้ว่า
“สมัครใจยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการ อันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ”
“พลพรรคส้ม” ยืนยันว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด และถูกต้องตามข้อกฎหมาย จึงไม่ยอมตัด “คำบกพร่อง” และมองว่าหาก “ประธานสภาฯ” ไม่บรรจุวาระ เท่าเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ที่สามารถเอาผิดขั้นสุด ถึงขั้น “พ้นจากตำแหน่ง”ได้
โดยปกติที่เป็นขั้นตอนปฏิบัติของสภาฯ จะหมายถึง จำนวนผู้สนับสนุนญัตติที่ครบถ้วนตามข้อบังคับ การลงลายมือชื่อตรงกับสมาชิกให้ไว้ ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับ “ดุลยพินิจ” ของประธานสภาฯ
ในที่นี้ ดุลยพินิจของประธานสภาฯตั้งต้นจากการ ต้องทำหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ตามกรอบของข้อบังคับที่กำหนดไว้ ซึ่งตามบทที่กำหนดไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อ 178 วรรคท้าย ระบุใจความสำคัญไว้ว่า “การอภิปรายที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่นายกฯ หรือรัฐมนตรี หรือสมาชิกได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม สมาชิกผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำ”
โดยข้อนี้ สส.อาจนำไปอ้าง เพื่อเข้าสู่เหตุการณ์ “ประท้วงการอภิปราย” จนวุ่นวาย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ในสภาฯ ที่สส.ฝ่ายค้าน พาดพิงชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ทำให้สส.พรรคเพื่อไทยลุกตอบโต้ทันที และประท้วงทำให้การประชุมต้องปั่นป่วน ไม่เรียบร้อยมาแล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย “วันนอร์” จึงต้องการตัดประเด็นที่เป็นปัญหานี้ออก มุมหนึ่งเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านอ้างความชอบธรรมที่จะพาดพิงคนที่ไม่ใช่ “นายกฯ-รัฐมนตรี” ได้
ส่วนที่ระบุว่า หากไม่ตัดคำที่บกพร่อง จะไม่บรรจุวาระให้ ทีมกฎหมายประธานสภาฯมองว่าอยู่ในอำนาจเช่นกัน พร้อมยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหลายกรณี ที่ว่าด้วยการ “บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นอำนาจของประธานฯ ที่จะพิจารณา
ดังนั้นเกมระหว่าง “ฝ่ายค้าน” กับ “ประธานสภาฯ” จึงเป็นการยื้อ-ยัน กันในทางกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผู้นำฝ่ายค้านได้ทราบถึงเหตุผลหลังจากที่ปิดห้องคุยกับประธานสภาฯเมื่อ 6 มี.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนดของการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติไม่ไว้วางใจถึง 2 รอบ
“ณัฐพงษ์” ได้โพสต์เมื่อ 9 มี.ค. ยืนยันในการพูดคุยกับ “วันนอร์” ที่แจ้งข้อบกพร่องของญัตติให้กลับไปแก้ไข เท่ากับว่า ได้เข้าใจและยอมรับซึ่งอำนาจของประธานสภาฯ ในการพิจารณาญัตตินี้ที่มีข้อบกพร่อง
อย่างไรก็ดีในการพูดคุย ไม่ได้ระบุอย่างชัดว่า หากตัดชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ออกไป จะไม่สามารถพูดถึงได้ ดังนั้นการจะเอ่ยชื่อ “ผู้เป็นบิดาของนายกฯ ที่ชักใย เรื่องสำคัญของบ้านเมือง” ในเวทีอภิปราย จึงยังทำได้ แต่คนที่อภิปรายต้องรับผิดชอบการอภิปรายของตัวเอง
ทว่า ในความพยายามตีรวน “ญัตติซักฟอก” ที่ทำให้สังคมกังขาว่า งานนี้อาจมีมวยล้มต้มคนดู ว่ากันว่ามีเบื้องหลังที่ “พรรคฝ่ายค้าน” กับ “ฝ่ายรัฐบาล” กำลังเล่นเกมต่อรอง ทั้งในแง่ของระยะเวลาอภิปราย ที่พรรคประชาชนต้องการให้ได้เวลามากที่สุด ขณะที่รัฐบาลบีบให้เหลือแค่วันเดียว
และ “การลดทอนเนื้อหา” ที่อาจพาดพิงไปถึง “ทุนใหญ่” และ “บุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย” ตามคำบรรยายในญัตติซักฟอกที่ฝ่ายค้านเสนอ อาจเป็นเพราะ มีข้อหวั่นใจลึกๆ ว่า หากปล่อยให้ “สส.พรรคส้ม” อภิปรายพาดพิง อาจไม่เป็นผลดีต่อ “รัฐบาล-เพื่อไทย”
แต่หากฝ่ายค้านยืนกรานในมุมความคิดของตัวเอง ไม่แก้ญัตติ อาจเกิดกระแสตีกลับ และเกิดคำถามทันทีว่า ระหว่าง เป้าหมาย “ตรวจสอบ” กับ “ดีลลับ” อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริง?