เปิดตัว ‘ธีระวิทย์’ ที่ปรึกษา รมต. โยงที่มา สปส.ซื้อตึก 7 พันล. ?

ทั้งหมดคือเบื้องหลังขั้นตอนการนำเงิน 7 พันล้านบาทของกองทุนประกันสังคมไปซื้อหุ้นเอกชนที่มีสินทรัพย์เป็นอาคาร 7 พันล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ติดตามกันต่อไป
KEY
POINTS
- คุ้ยที่มากองทุน สปส.ซื้ออาคาร Skyy9 มูลค่ากว่า 7 พันล้าน
- ทั้งที่เป็นอาคารเก่ายุค “ต้มยำกุ้ง” แถมถูกตีราคาประเมินราว 3 พันล้านบาท
- เปิดตัว “ธีระวิทย์ วงศ์เพชร” คณะที่ปรึกษา “รมว.แรงงาน”
- “สุชาติ” ปัดเอี่ยว ยันไม่รู้จักส่วนตัว ไม่เคยเคาะใครไปเป็นอนุฯลงทุน
- “พิพัฒน์” ชง “อนุทิน” ตั้ง “ปลัด มท.” สอบปมร้อนแล้ว
เงื่อนปมร้อนฉ่าในสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยังคงถูกขุดคุ้ยตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นกรุงเทพธุรกิจนำเสนอข้อเท็จจริง 3 ประเด็นเกี่ยวกับการใช้ งบประมาณ สปส. เฉียดหมื่นล้านบาท และ กองทุนประกันสังคม ในการจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ และลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้ว แบ่งเป็น
1.กรณีการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน สปส. อย่างน้อย 3 โครงการที่ส่อมีปัญหา ถูกตั้งคำถามถึงความไม่คุ้มค่าของการใช้งบประมาณรวมกว่า 1.5 พันล้านบาท เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้าง “เว็บแอป” วงเงิน 848 ล้านบาท โครงการจัดซื้อแอป “SSO+” วงเงิน 275 ล้านบาท การจ้างทำ “ปฏิทิน” รอบ 10 ปีหลัง (2556-2566) มูลค่ารวมกว่า 580 ล้านบาท
2.การใช้งบกองทุนประกันสังคมราว 7 พันล้านบาท ลงทุนในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ได้อาคารบริเวณพระราม 9 คือตึก Skyy9 ทั้งที่เป็นอาคารเก่ายุค “ต้มยำกุ้ง” และเคยถูกประเมินว่ามีราคาราว 3,000 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่า มีส่วนต่างที่หายไปเฉียด 4 พันล้านบาท ถูกตั้งคำถามว่า ใครใช้อำนาจเพื่อให้ลงทุนในธุรกิจดังกล่าว และใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้
3.ว่ากันว่าในช่วง “บิ๊กเนมการเมือง” บางคนกุมอำนาจใน “กระทรวงแรงงาน” มีการสั่งการหลังฉากให้นำเงิน “กองทุนประกันสังคม” ไปลงทุนหุ้น “เอกชน” บางแห่งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมี “นอมินี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะนำเงินดังกล่าวไป “ปั่นหุ้น” ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางบริษัท “สูงขึ้น” แบบไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ “บิ๊กเนมการเมือง” ร่ำรวยขึ้นจากเรื่องนี้อย่างมาก
ทั้ง 3 เงื่อนปมดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ 2 สส.พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กทม. และ “เนม” สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี โดยทั้งคู่ยื่นเรื่องไปยังสำนักงาน สปส. และ รมว.แรงงานคนปัจจุบัน (พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ และเตรียมยื่นข้อมูลหลักฐานให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อด้วย
ความคืบหน้าล่าสุด “พิพัฒน์” บอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย โดย “มท.1” ให้สัมภาษณ์ว่า แต่งตั้ง “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” เป็นคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว ยืนยันต้องทำให้เร็วที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้คือ กระบวนการได้มาซึ่งอาคาร Skyy9 บริเวณพระราม 9 ที่ใช้เงินกองทุนประกันสังคมราว 7 พันล้านบาทไปซื้อ “บริษัท” ซึ่งครอบครองอาคารดังกล่าวมาลงทุน ดำเนินการอย่างไร
เบื้องต้น “สุชาติ ชมกลิ่น” อดีต รมว.แรงงาน (ปัจจุบันเป็น รมช.พาณิชย์) แถลงต่อสื่อ และให้สัมภาษณ์ผ่านหลายรายการยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในดีลการซื้ออาคาร Skyy9 และไม่เคยส่ง “หน้าห้อง” ไปเป็นหนึ่งในอนุกรรมการที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งมีส่วนตัดสินใจในการลงทุนต่าง ๆ แต่อย่างใด
ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการ ถามตรง ๆ ถึง “สุชาติ” ว่า “นาย ธ.” ที่ถูกกล่าวอ้างในเรื่องนี้ คือ “ธีระวิทย์ วงศ์เพชร” เคยเป็นอดีตที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ใช่หรือไม่ “สุชาติ” ยืนยันว่า “ธีระวิทย์” มิใช่หน้าห้องของตน ไม่รู้จักกับ “ธีระวิทย์” เป็นการส่วนตัว และที่ปรึกษา รมว.แรงงาน มาจากบอร์ดเกี่ยวกับแรงงานหลายแห่ง มีเป็นร้อยคน ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทุกคน
กรุงเทพธุรกิจ ต่อสายคุยกับ “ธีระวิทย์ วงศ์เพชร” คณะทำงานที่ปรึกษา รมว.แรงงาน (ตั้งแต่ยุคสุชาติ จนถึงยุคพิพัฒน์) เพื่อสอบถามเรื่องนี้ โดยเขายืนยันข้อเท็จจริงว่า เคยเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาของ รมว.แรงงาน (สุชาติ ชมกลิ่น) จริง และเป็นหนึ่งในอนุกรรมการที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาดจริง
“สมัยนั้นผมเป็นบอร์ด เป็นไตรภาคี เป็นลูกจ้าง นายจ้าง เป็นบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง ทีนี้บอร์ดไปทำหน้าที่อนุฯต่าง ๆ เช่น อนุฯประชาสัมพันธ์ อนุฯกลั่นกรองกฎหมาย อนุฯกลั่นกรองงบประมาณ อนุฯลงทุน พวกนี้ ผมได้รับ ช่วงนั้นมีฝ่ายลูกจ้าง 1 นายจ้าง 1 ไปอนุฯลงทุน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจาก ตลท. แบงก์ชาติ สำนักงบประมาณ เขาให้ระเบียบว่าด้วยการลงทุน จะลงทุนตราสารหนี้กี่เปอร์เซ็นต์ พลังงานเท่าไหร่ อสังหาฯกี่เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยเท่าไหร่ มีมติตามเงื่อนไขที่ผู้เชี่ยวชาญ เราก็เป็นฝ่ายลูกจ้างกับนายจ้าง เป็นกรรมการไตรภาคี มีความเห็นตามที่ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอ” ธีระวิทย์ ยืนยัน
ธีระวิทย์ เล่าถึงการมาเป็นคณะทำงานที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ว่า การเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพราะผมมาจากสหภาพแรงงาน เมื่อก่อนเป็นเลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย เป็นเลขานุการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เป็นผู้ใช้แรงงาน ถึงได้เป็นคณะกรรมการไตรภาคีฝ่ายลูกจ้าง ท่านแต่งตั้งเป็นร้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานมีหลายสิบคน
ส่วนการเป็นบอร์ดประกันสังคม ธีระวิทย์ กล่าวว่า แต่งตั้งมาตั้งแต่ 2558 เป็นบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้ง ในยุคที่ คสช.ยึดอำนาจมา มีการปฏิรูปหลายส่วน ตนก็ไปปฏิรูปประกันสังคม ปรับลดอะไรต่าง ๆ ที่ไม่ชอบมาพากล อะไรหลายอย่าง ท่าน (สุชาติ) ใช้งานเฉพาะรับเรื่องราวร้องทุกข์ ไม่ใช่หน้าห้อง ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ และตอนนี้ก็หมดวาระไปแล้ว ตั้งแต่มีการเลือกบอร์ดประกันสังคมใหม่ ซึ่งบอร์ดประกันสังคมก้าวหน้าเขาชนะไป เมื่อปลายปี 2566
เมื่อถามถึงการเข้าไปเป็นอนุกรรมการที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาด ธีระวิทย์ กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการลงทุนใด ๆ ทราบแค่ว่า มีการไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีระเบียบมาให้ กองทุนบริษัทนี้ ทุนจดทะเบียน มีหลักทรัพย์ ลงทุนตลาดต่างประเทศ ทุกอย่างทำตามระเบียบ แต่ยืนยันไม่ใช่ไปซื้อตึก เพราะอนุฯชุดนี้ให้อำนาจอนุมัติการลงทุน เสนอบอร์ด ให้เราไปรับรู้กับผู้เชี่ยวชาญกับระบบไตรภาคี ไปเป็นองค์คณะให้ครบ ไม่ใช่รัฐมนตรีแต่งตั้ง แต่บอร์ดแต่งตั้ง เขาก็ถามว่าลูกจ้างใครจะไป ก็มีหลายท่าน บอร์ดเขาก็จิ้มชื่อตนมา เพราะเป็นด็อกเตอร์ด้านแรงงาน ด้านพัฒนาสังคม
ถามย้ำว่า ในการประชุมอนุฯ ไม่ทราบใช่หรือไม่ว่ามีการไปลงทุนในบริษัทบางแห่งเพื่อซื้ออาคาร ธีระวิทย์ ยืนยันว่า ไม่ทราบว่าไปซื้อตึก เพิ่งทราบเมื่อวาน โทรไปถามเจ้าหน้าที่ เขาก็บอกว่าเราไม่ได้อนุมัติซื้อตึก เราลงทุนใน ตลท. แล้วมาเป็นอันนี้ เขาก็ว่าตามกลไกการตลาด แต่ลงทุนไปในกองทุน ไม่รู้ว่าเลยว่าซื้ออะไร
“เรื่องซื้อตึก เป็นการลงทุน ผู้ถือหุ้นไปลงทุนอะไรก็ไม่รู้ ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ตามนั้น ผมไม่ได้สนิทส่วนตัวกับท่านสุชาติ ไปตามฟังก์ชั่น ไปตามผู้นำแรงงาน” ธีระวิทย์ กล่าว
เมื่อตรวจสอบขุดคุ้ยถึงประวัติส่วนตัว “ธีระวิทย์” ทั้งในโลกออนไลน์ และปรากฏตามเอกสารราชการ พบว่า เขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.พรรคราษฎร ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และในการเลือกตั้งปี 2566 เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.พรรคภูมิใจไทย
ปัจจุบันเขาเป็นที่ปรึกษาประธาน กมธ.การท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เป็นคณะที่ปรึกษา รมว.แรงงาน เป็นประธานสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาประจำ กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ก่อนหน้านี้ เคยเป็นกรรมการประกันสังคม (ชุดที่ 13) เคยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.การแรงงาน วุฒิสภา
นอกจากนี้เคยศึกษาสารพัดหลักสูตร “คอนเนกชั่นการเมือง” ของไทยหลายแห่ง นอกจากนี้ในการเลือก สว.เมื่อปี 2567 ได้ลงสมัครรับเลือกด้วย โดยในระดับอำเภอ อยู่เขตหนองจอก กลุ่ม 7 แต่มิได้รับเลือก
ในโซเชียลมีเดียของเขา เคยถ่ายภาพร่วมเฟรมกับ “นักการเมือง” จำนวนไม่น้อย ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2561 เขาคลุกคลีอยู่กับ “พรรคอนาคตใหม่” โดยเฉพาะกับ “สุเทพ อู่อ้น” ปีกแรงงานของพรรค (ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.) ต่อมาช่วงปี 2563-2566 เขาไปเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาให้กับ “สุชาติ ชมกลิ่น” ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 เขาไปเคยเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาให้กับ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ”
ทั้งหมดคือเบื้องหลังขั้นตอนการนำเงิน 7 พันล้านบาทของกองทุนประกันสังคมไปซื้อหุ้นเอกชนที่มีสินทรัพย์เป็นอาคาร 7 พันล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป