'กมธ.มั่นคงฯ' ลงพื้นที่ แม่สอด จี้คุมเข้ม 'ท่าข้าม' ส่งสินค้าให้แก๊งคอลฯ

'กมธ.มั่นคงฯ' ลงพื้นที่ แม่สอด จี้คุมเข้ม 'ท่าข้าม' ส่งสินค้าให้แก๊งคอลฯ

"รังสิมันต์" นำกมธ.มั่นคง ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หารือหน่วยงานมั่นคง-ปกครอง พื้นที่ จี้คุมเข้มท่าข้าม พอใจมาตรการรัฐบาลปราบแก๊งคอล พร้อมแนะให้ยกระดับ จับ "หม่อง ชิดตู่"

ผู้สื่อข่าวรายว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง  ฐานะเลขานุการกมธ. นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะกมธ. ร่วมลงพื้นที่ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่และฝ่ายข้าราชการฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.ตาก

ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งของการหารือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่ นายรังสิมันต์  กล่าวตอนหนึ่งว่า ถึงกรณีปัญหาท่าข้ามชายแดนที่พบยังมีการขนส่งสินค้าและสิ่งของสนับสนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเมียนมา ซึ่งพบว่าท่าข้ามบางแห่งดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย  ดังนั้นหากต้องการเปิดท่าข้ามเพื่อเป็นประโยชน์ของการค้าชายแดน ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีมาตรการควบคุมดูแล เพราะหากมีการเปิดท่าข้ามแต่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรดูแลเพียง1 ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งนี้กมธ.ไม่ได้บอกให้ปิดทุกท่า แต่ต้องตรวจสอบหากทำผิดต้องดำเนินการปิด

\'กมธ.มั่นคงฯ\' ลงพื้นที่ แม่สอด จี้คุมเข้ม \'ท่าข้าม\' ส่งสินค้าให้แก๊งคอลฯ

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่าสำหรับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงต้องทำทุกวิถีททางเพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็มาตรการที่รัฐบาลจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยอมรับว่ามีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้น และป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงต้องทำให้จบเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดีในการชี้แจงของหน่วยงานในพื้นที่จ.ตาก ได้ให้ข้อมูลต่อกมธ.มั่นคง ว่าสำหรับท่าข้ามในพื้นที่ พบว่า 33 ช่องทาง เป็นการผ่อนผันตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่มีสถานการณ์ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดีหากจะให้สรรพากรดำเนินการปิดหรือเปิดนั้นไม่อยู่ในอำนาจ ทำให้กมธ. ได้ชี้แจงว่าในมาตรการตามอำนาจหน้าที่นั้นจะต้องพิจารณาต่อไปว่าใครมีอำนาจ

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น นายรังสิมันต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับหน่วยความมั่นคงว่า ตนมองว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลทำได้ดี ทั้งการปราบปรามและควบคุม แต่ยังมีจุดอ่อน เชิงนโยบายและกฎหมาย อาทิ สิ่งของบางอย่างที่สามารถใช้กับการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น สตาร์ลิงก์ โซลาร์เซล อย่างไรก็ดีมาตรการระยะยาวต้องมีรอบรับ โดยมีมาตรการสนับสนุน จากงบประมาณ เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์

“กมธ.เป็นห่วงในหลายส่วน คือ มีคนต่างชาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเจ้าหน้าที่รัฐโดยสารมาทางเครื่องบิน แม้จะมีมาตรการ หากประสงค์มาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ ถูกหลอกให้มาทำงาน หน่วยงานทหารควบคุมทำไม่ได้ ทำไมต้องทบทวนมาตรการฟรีวีซ่า คือ ต้องมีการขออนุญาตก่อนเข้าพื้นที่ รวมถึงกรณีของท่าข้ามที่มีการลักลอบข้ามโดยเฉพาะหลังเวลา 18.00 น. ซึ่งข้ามโดยคนและแอบส่งน้ำมัน ทั้งนี้กมธ.ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปล่อยตัวผู้ที่ทำงานเป็นสแกมเมอร์ในพื้นที่เมียนมา ที่เชื่อว่ามีกว่าแสนคน แต่ถูกปล่อยออกมาเพียง 100 - 1,000 คน ถือว่าเป็นจำนวนน้อย และทราบข้อมูลว่ามีความพยายามหลบหนี เข้าไปยังพื้นที่ของเมียนมา เช่น เมืองพะอันในเมียนมา ดังนั้นรัฐบาลต้องเพิ่มมิติปราบปรามอย่างเข้มข้น เพื่อถอนรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด รวมถึงการจัดการกับ หม่อง ชิดตู่ ที่ดูแลพื้นที่ชเวก๊กโก ซึ่งตนมองว่าเป็นอาชญากรสำคัญที่ต้องจัดการและขยายผลการปฏิบัติการนำไปสู่การถอนรากโคน ทั้งนี้หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายไทยต้องดำเนินการ ดีเอสไอต้องออกหมายจับ หากทำไม่ได้ต้องมีคนรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อการพิจารณามาตรการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติในมิติเชิงป้องกันนั้น กมธ.ความมั่นคงฯ ได้นัดประชุมในวันที่ 20 ก.พ.  เพื่อพิจารณาการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลต่องานความมั่นคงและปราบอาชญากรรรมออนไลน์  และ ติดตามการแก้ปัญหาอาชญากรชาวไทยที่เชื่อมโยงกับขบวนการยาเสพติด  ซึ่งได้เชิญตัวแทนของหน่วยงานความมั่นคง ทหาร และตำรวจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ.