'รักชนก' โพสต์6ประเด็น 'งบประกันสังคม' ส่อใช้ไม่คุ้มค่า-โปร่งใส จี้ทบทวน

"กมธ.ติดตามงบฯ" จัดเวที "HACK งบประกันสังคม" - "รักชนก" ชี้งบ6ประเด็น ส่อใช้ไม่คุ้มค่า-ไม่โปร่งใส จี้ให้ทบทวน หวังอัดงบให้กองทุน เพื่อประโยชน์ผู้ประกันตนสูงสุด
น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ต่อประเด็นงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม หลังจากที่ กมธ.จัดงาน ‘HACK งบประกันสังคม’ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า การบริหารจัดการงบประกันสังคมมีบางส่วนที่เป็นหลุมดำ ทั้งการจัดซื้อแบบเจาะจง และการแข่งขันราคาที่ไม่โปร่งใสจำนวนมาก ทั้งนี้ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลของบอร์ดประกันสังคมก้าวหน้า ตรวจสอบพบว่า
1.ประเด็น การต่างประเทศ พบว่าทริปดูงานทริปหนึ่งของ ประกันสังคม 6 วัน 5 คืน งบประมาณที่ใช้ 2.2 ล้าน สำหรับ 10 คน ค่าบัตรโดยสาร การเบิกเฟริสคลาส 160,000 บาท จำนวน 2 คน ทั้งที่ราคาตลาดต่างกันเกือบ 60,000 บาท ค่าที่พัก 16,000 บาทต่อวันต่อคืน
"คือราคาระดับ 5 ดาวของญี่ปุ่น จำเป็นไหมต้องใช้จ่ายฟุ่มเพือยขนาดนี้ ค่าพาหนะในการเดินทางต่างประเทศ 35,000 บาท ต่อคน ไปดูงานทำไมไม่ใช้วิธีเหมารถ ประชาชนถามชัด ๆ ดัง ๆ ไปดูงานแล้ว ได้อะไรกลับมา" น.ส.รักชนก ระบุ
2.ประเด็น งบภาพรวม พบว่ารายจ่ายประกันสังคม เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 63 มีจำนวน 4,000 ล้านบาท ปี 64 จำนวน 5,281 ล้านบาท ปี 65 จำนวน 5,332 ล้านบาท และปี 66 จำนวน 6,614 ล้านบาท
ขณะที่งบยุทธศาสตร์ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วงปี 63 - 64 จาก 965 ล้านบาท กระโดดไปเป็น 2,000 ล้านบาท สำหรับงบประมาณของคอลเซ็นเตอร์ 1506 พบมีค่าใช้จ่ายหลัก 100 ล้านในทุก ๆ ปี เป็นค่าเช่าสถานที่ 50 ล้านบาท แต่คอลเซนเตอร์ สายไม่เคยว่าง กด 0 แล้วก็รอไปยาวๆ สุดท้ายขอข้อมูลอะไรไม่ได้ ทั้งนี้ในปี 66 โครงการใหญ่ เปลี่ยนระบบงานจากคอม เป็นเว็บแอป 550 ล้านบาท มีความจำเป็นหรือไม่ ?
ขณะที่ค่าใช้จ่ายจัดหาระบบสารสนเทศเพื่อกำหนดนโยบาย 117 ล้านบาท ผู้นำเสนอชี้ว่าหากผู้บริหารควรคิดเองบ้าง ไม่ใช่มาจ้างคนมากำหนด ไม่เช่นนั่นก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้บริหารก็ได้จ้างเอกชนเอา อีกประเด็นที่น่าสงสัย ค่าตอบแทนประจำปี 65 - 66 ปีละ 100 ล้านบาท เป็นเงินโบนัสหรือไม่ และทำงานเหมาะสมกับโบนัสหรือไม่ ทั้งนี้ สนง.ประกันสังคมมีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงหลักล้านล้านบาท ในหลายปีที่ผ่านมา
3.ประเด็น งบอบรมสัมนา พบว่าเขียนโครงการเหมือนกันทุกปี อบรมหัวข้อเดิมกับคนกลุ่มเดิมแต่จัดทุกปี เช่น ปี 63 โครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ ใช้งบ 2.5 ล้านบาท ปี 64 โครงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศงบประมาณ 2.5 ล้านบาท และทำแบบเดิมกันทุกปี การอบรมบางโครงการซ้ำซ้อน และบางโครงการถูกตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ เช่น โครงการอบรมเทคนิคการเป็นวิทยากรมืออาชีพ โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านการบริหารพัสดุ ทุกโครงการไร้เป้าหมาย ขาดการวัดผล
4.ประเด็น งบประชาสัมพันธ์ พบว่าปี 2567 จัดงบ จำนวนว 5,303 ล้านบาท เป็นงบประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน จำนวน 336 ล้านบาท และพบการเบิกจ่ายพอๆ กันทุกปี จึงต้องเน้นดูผลลัพธ์ ซึ่งทีโออาร์งานประชาสัมพันธ์ไม่เคยถูกช่วง 3ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปฏิทินประกันสังคม ปี 67 ใช้งบประมาณ 55 ล้านบาท และงบประมาณในการจัดทำปฏิทิน 8 ปีย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีการจ้างจัดทำด้วยวิธีกรณีพิเศษ
"เมื่อดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าใน 5ปี มี 2 ปี ใช้วิธี กรณีพิเศษ มี 1 ปี E-Biding มี 2 ปีเฉพาะเจาะจง งบประมาณก้อนใหญ่แต่ไม่ใช้ e-Bidding ให้แข่งราคา และปีที่ แข่งราคา e-Bidding เป็นยอดงบประมาณที่น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการใช้วิธีอื่น" น.ส.รักชนก ระบุเป็นข้อสังเกต
5.ประเด็น เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าโครงการพัฒนา แอพพลิเคชั่นSSO พลัส มีการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 276 ล้านบาท เป็นงบที่รวมถึงการจัดทำระบบ เมื่อตรวจข้อมูลจาก ACTAI พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติในการเสนอราคา ตัวแอพประชาชนให้เรทติ้ง 1.5 แสดงถึงความล้มเหลวของแพลตฟอร์ม ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไป ทุกวันนี้ยังสแกนจ่ายค่าประกันสังคมผ่านแอพไม่ได้ ต้องจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ
"ในการเปลี่ยนผ่านจาก SSO Connect ไปยัง SSO พลัส เลือกวิธีการเปลี่ยนตั้งแต่ฐานข้อมูลยันโปรแกรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ที่ต้องทำทั้งหมด สิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณ" น.ส.รักชนก ระบุ
6.ประเด็น พื้นฐานประกันสังคม พบว่าคอนเท้นที่สำนักงานประกันสังคมทำอยู่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ไม่ได้ คอนเท้นไม่ทันยุค โปสเตอร์ที่แจกให้รายละเอียดเยอะจริง แต่อ่านยากและรูปแบบไม่น่าสนใจคนไม่อยากอ่าน Tiktok เรื่องประกันสังคมที่แมสๆส่วนใหญ่มาจากคนนอกทำ
"การใช้งบกับการทำปฏิทินในปี 67 จำนวน55 ล้านบาท ทำวารสาร จำนวน15 ล้านบาท และแผ่นพับ 5 ล้านบาท เป็นงบประมาณหนึ่งปีที่ประกันสังคมใช้ประชาสัมพันธ์ ซึ่ง หากนำเงินไปทำในสิ่งที่ได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนจริง ๆ หรือ การนำไปทบเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนมากขึ้น อาจจะดีกว่านี้" น.ส.รักชนก ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสัดส่วนของบอร์ดประกันสังคมในปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 21 คน แบ่งเป็น มาจากภาครัฐที่เป็นโดยตำแหน่ง 7 คน มาจากสัดส่วนนายจ้าง จำนวน 7 คนและมาจากสัดส่วนของลูกจ้าง จำนวน 7 คน ทั้งนี้ในสัดส่วนบอร์ดของลูกจ้าง พบว่าเป็นกรรมการที่มาจาก คณะก้าวหน้า จำนวน 6 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง.