ปมร้าวลึก ศึกในรัฐบาล ภูมิใจไทย VS เพื่อไทย

ปมร้าวลึก ศึกในรัฐบาล ภูมิใจไทย VS เพื่อไทย

ปมร้าวที่สั่งสมมาตั้งแต่ร่วมรัฐบาล ระหว่างเพื่อไทย-ภูมิใจไทย มีความขัดแย้งที่ลงลึกทุกที และเปิดศึกกันอย่างเปิดเผย อาจมีสภาพเหมือนรอวันแตกหัก แต่ตราบใดที่ยังไม่มีเงื่อนไขที่ยอมกันไม่ได้  สองค่ายก็คงต้องกอดคอ ซ่อนมีดกันไป จนกว่าจะถึงวันเปิดศึกเลือกตั้งใหญ่ 

KEY

POINTS

  • แม้จะอยู่ด้วยกันในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” แต่ในทางการเมือง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” เปิดหน้า-เปิดเกม สู้กันทุกช็อต
  • หลังจากที่ “ครูใหญ่” มี “สว.สีน้ำเงิน” อยู่ในมือ ดุลอำนาจในการต่อรองทางการเมืองพุ่งขึ้นสูงลิบ เนื่องจากการผ่านร่างกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการของ “สว.”
  • เช็คลิสต์ปมร้าวที่ลงลึกขึ้นทุกที ระหว่าง “เพื่อไทย” ที่ปะฉะดะกับ “ภูมิใจไทย” ตั้งแต่พลิกขั้วจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล

แม้จะอยู่ด้วยกันในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” แต่ในทางการเมือง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคภูมิใจไทย” เปิดหน้า-เปิดเกม สู้กันทุกช็อต เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบทางการเมือง

เนื่องจากยุทธศาสตร์ของ “พรรคสีแดง” จากแนวคิดของ “นายใหญ่” แห่ง บ้านจันทร์ส่องหล้า ปฏิบัติการรุกคืบพื้นที่ “บ้านใหญ่” ซึ่งเป็นฐานกองกำลังของ “พรรคสีน้ำเงิน” ของ “ครูใหญ่” บ้านบุรีรัมย์ ที่ครองฐานกองกำลังบ้านใหญ่มาก่อน

“นายใหญ่” รู้ดีว่ากระแส “ทักษิณฟีเวอร์” จากที่เคยได้รับความนิยมสูงลิบ จนพรรคการเมืองภายใต้ชายคาของตระกูลชินวัตร กวาด สส. เข้าสภาฯ ทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น มาวันนี้ถูกท้าทายจาก“กระแสสีส้ม” ที่มีจุดยืนประชาธิปไตยเข้มแข็งกว่า

ดังนั้น การเลือกตั้งปี 2570 “ทักษิณ-เพื่อไทย” อาจจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมือง จากที่เคยเอาชนะได้ด้วยกระแส ต้องปรับมาพึ่งพา “กระสุน” มายิ่งขึ้น

ทว่า หลังจากที่ “ครูใหญ่” มี “สว.สีน้ำเงิน” อยู่ในมือ ดุลอำนาจในการต่อรองทางการเมืองพุ่งขึ้นสูงลิบ เนื่องจากการผ่านร่างกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการของ “สว.” ในโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ

ว่ากันว่า เสียงของ “สว.สีน้ำเงิน” ประมาณ 160-170 อยู่ภายใต้การคอนโทรลของ “ครูใหญ่” จึงไม่แปลกที่ “รัฐมนตรี-สส.” จากค่ายสีน้ำเงิน” เดินเกมไม่เกรงใจ-ไม่เกรงกลัว “นายใหญ่” แม้แต่กระดานเดียว พร้อมท้าชนทุกกลเกมเสียด้วยซ้ำ
 

เช็คลิสต์ปมร้าวที่ลงลึกขึ้นทุกที ระหว่าง “เพื่อไทย” ที่ปะฉะดะกับ “ภูมิใจไทย”

ตั้งแต่เพื่อไทยกับภูมิใจไทยพลิกขั้วจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล หลายกรณี แต่ “นายใหญ่” ยังต้องอาศัยเสียง สส.-สว. จาก “ครูใหญ่” จึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่ร่วมรัฐบาลกันไป

- ปมแรก นโยบายพรรค-นโยบายรัฐบาล ที่เพื่อไทยต้องการนำ “กัญชา” กลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด แต่ภูมิใจไทยต้นฉบับกัญชาเสรีออกโรงขวางอย่างหนัก ทำให้ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สาธารณสุข จากเพื่อไทย ต้องยอมถอย

- ปมสอง รัฐมนตรีจากค่ายสีน้ำเงิน ลาประชุมครม. ร่างพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่มเสนอโดยกระทรวงการคลัง ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องออกมาแฉกลางที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย กำเนิดวาทะ “อีแอบ”

- ปมสาม ที่ดินเขากระโดง เมื่อกรมที่ดินภายใต้การกำกับดูแลของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ในการกำกับดูแลของ “เดอะซัน” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ รมว.คมนาคม ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่าง “กรมที่ดิน” และ “รฟท.” งานนี้ค่ายสีแดง-ค่ายสีน้ำเงิน จึงเปิดเกมรบผ่านสงครามตัวแทน

- ปมสี่ ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ โดย “ชาดา ไทยเศรษฐ์“ ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เซ็นคำสั่งขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567

แนวทางหลังเพิกถอนที่ดินจะกลับไปเป็นของวัด ส่วนผู้เสียหายซึ่งมีตระกูลชินวัตรรวมอยู่ด้วย จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ต้องติดตาม เพราะหากมีการฟ้องร้อง “รัฐ” จะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับตระกูลชินวัตร และอาจจะถูกนำไปปลุกกระแส “เสียค่าโง่” อีกรอบ
 

- ปมห้า โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ รัฐมนตรี-สส.จากค่ายสีน้ำเงิน ออกมาแถลงจุดยืนต่อต้าน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “ครูใหญ่” ต้องการต่อรองขอโควตาสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยใช้ทำเล “เมืองหลวงสีน้ำเงิน” เป็นที่ตั้ง แต่ผลสำรวจของนักลงทุนสนใจเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นหลัก 

- ปมหก สมรภูมิ นายก อบจ. "นายใหญ่” เปิดศึก “ครูใหญ่” แย่งชิงสนามท้องถิ่นกันหลายพื้นที่ โฟกัสหลักที่ จ.เชียงราย จ.ศรีสะเกษ ผลปรากฏว่า “ค่ายสีน้ำเงิน” รักษาแชมป์เอาไว้ได้ ทำให้ “นายใหญ่” เสียหน้าพอสมควร

โดยเฉพาะ สนามศรีสะเกษ ที่เพื่อไทยพ่ายให้ภูมิใจไทย “นายใหญ่” ถูก มท.หนู หัวหน้าค่ายสีน้ำเงิน เย้ยด้วย“ปี๊บ”  

- ปมเจ็ด ตัดไฟขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่โยนกันไป ยื้อกันมา ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ของพรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย จนในที่สุด สมช.ได้มีมติให้ดำเนินการ กฟภ.จึงต้องดำเนินการ โดยในที่สุด มท.หนู อนุทิน ต้องไปกดปุ่มตัดไฟ 5 จุดเอง  

- ปมแปด สว.สีน้ำเงินขวางการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ภายหลังในชั้นของ สส.ผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขมาใช้เกณฑ์ประชามติชั้นเดียว (ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์) แต่ในชั้นของ สว. กลับยืนยันให้ใช้เกณฑ์สองชั้น (ต้องได้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์)

โดยส่งผลให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อต่อยอดไปยังการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกยื้อออกไปอีก 6 เดือน ก่อนจะยืนยันมติของ สส. อีกครั้ง แต่เมื่อเกมเปลี่ยนแนวโน้มการโหวตอาจจะเปลี่ยนไปด้วย

- ปมเก้า แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (เปิดทางให้มี สสร.) “สส.-สว.” จากค่ายสีน้ำเงินวอล์กเอาต์ ไม่ร่วมสังฆกรรม โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขรายมาตรา ทำให้มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะต้องถูกล้มไปอีกครั้ง

ทั้งหมดคือฉากรบระหว่าง “ค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน” ที่เบื้องหลัง “นายใหญ่” VS “ครูใหญ่” แม้ฉากหน้าทั้งสองฝ่าย จะมีตัวแสดงแทน แต่ฉากหลัง ภูมิใจไทย ก็เปิดปฏิบัติการ“ขวาง”แทบทุกจังหวะ 

ปมร้าวที่สั่งสมมาตั้งแต่ร่วมรัฐบาล ระหว่างเพื่อไทย-ภูมิใจไทย มีความขัดแย้งที่ลงลึกทุกที และเปิดศึกกันอย่างเปิดเผย อาจมีสภาพเหมือนรอวันแตกหัก แต่ตราบใดที่ยังไม่มีเงื่อนไขที่ยอมกันไม่ได้  สองค่ายก็คงต้องกอดคอ ซ่อนมีดกันไป จนกว่าจะถึงวันเปิดศึกเลือกตั้งใหญ่