ปชน.ซัดรัฐบาลแก้ฝุ่น PM2.5 ตามมีตามเกิด จี้นายกฯออกนโยบายให้ชัด

สส.กทม.-ส.ก.ปชน. แถลงซัดรัฐบาล แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมีตามเกิด ไร้ผู้นำ บี้นายกฯออกนโยบายให้ชัด แนะผู้ว่าฯ กทม.เร่งแก้ขอบเขตอำนาจ ทำให้จบปีนี้ ป้องจมฝุ่นซ้ำปีหน้า
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา สส.กทม. และ ส.ก.พรรคประชาชน (ปชน.) ร่วมแถลงความคืบหน้าการแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่สะท้อนวิกฤตภาวะผู้นำทั้งในระดับ กทม. และระดับรัฐบาล รวมทั้งกล่าวถึงข้อเสนอจากพรรคประชาชน โดยนาย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. เขต 9 น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พร้อมด้วย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อเสนอของผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาชนที่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองทั้งจากรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร รว่มกับหน่วยงานที่เป็นผู้ปฏิบัติได้มาร่วมมือกันแก้ปัญหาฝุ่น คณะกรรมาธิการการที่ดินฯ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 16 หน่วยงานมาร่วมประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหามาตรการและแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยการประชุมใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง
นายพูนศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตของตนจากที่ประชุมคือมาตรการต่างๆ ที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุเฉพาะหน้า ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนยังไม่ได้รับการนำเสนอ ซึ่งสะท้อนวิกฤตภาวะผู้นำ ไม่เฉพาะนายกรัฐมนตรี แต่รวมถึงผู้ว่า กทม.ด้วย เช่นเมื่อวานนี้เราคุยกันเรื่องมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม โดยมีผู้แทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยมานำเสนอว่าได้พยายามปรับปรุงตัวเองด้วยการลดการเผาอ้อยเหลือเพียง 15% จากอ้อยที่เข้าหีบ แต่ปัจจุบันพวกเขากลับยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่รัฐบาลได้เคยสัญญาและประกาศไว้เลย
ขณะที่นายศุภณัฐ กล่าวว่า สส.กทม. และ ส.ก.ของพรรคประชาชนได้พยายามอย่างหนักในการประสานงานเพื่ออุดช่องว่างระหว่างฝ่ายบริหารและท้องถิ่น โดยเชิญทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันเพื่อติดตาม 11 ข้อเสนอของผู้ว่า กทม.ที่มีต่อรัฐบาล แต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญมากพอ ทั้งสองฝ่ายส่งแค่เจ้าหน้าที่มาชี้แจงเท่านั้น และไม่ได้มีตัวแทนจากภาคการเมืองมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า 11 ข้อเสนอของผู้ว่า กทม.นั้นถูกหน่วยราชการจากกระทรวงต่างๆ ปัดตกไปถึง 7 ข้อ เหลือเพียง 4 ข้อที่ได้รับการตอบรับคือ (1) การติดตั้งเครื่องตรวจมลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ (2) การศึกษาผลกระทบโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการผลักดันต่อ (3) การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งกำลังผลักดันอยู่ และ (4) การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ สส.ต้องผลักดันผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด
ขณะที่อีก 7 ข้อที่เหลือซึ่งหน่วยงานราชการไม่เห็นด้วยหรือไม่มีนโยบายในการดำเนินการแก้ไข ได้แก่ (1) การกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก เพื่อให้ กทม.เป็นผู้ตรวจการขนส่ง มีอำนาจจับรถบรรทุกและรถโดยสารที่สร้างควันดำ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าท้องถิ่นจะมีอำนาจมากเกินไป (2) การลดเกณฑ์ค่าความทึบแสงในการตรวจจับควันดำ จาก 30% เหลือ 10% เพื่อตรวจจับรถควันดำได้มากขึ้น กรมการขนส่งทางบกก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนกรมควบคุมมลพิษบอกว่ามีแผนจะปรับ แต่มาตรการของกรมฯ ไม่ครอบคลุมรถบรรทุก ครอบคลุมเฉพาะรถยนต์และรถโดยสารเท่านั้น (3) การบังคับให้รถยนต์เก่าติดตั้งเครื่องกรองมลพิษที่ท่อไอเสีย กรมการขนส่งทางบกไม่เห็นด้วย เพราะจะเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ (4) การปรับโครงสร้างภาษี ให้รถยนต์เก่าที่ปล่อยมลพิษมากต้องจ่ายภาษีมากขึ้น กรมการขนส่งทางบกไม่มีแผนในการปรับภาษีให้ผันแปรตามการปล่อยมลพิษที่เพิ่มขึ้น (5) การย้ายท่าเรือคลองเตย การท่าเรือแห่งประเทศไทยระบุว่าไม่มีแผน
(6) การให้อำนาจ กทม.ควบคุมมลพิษจากการเดินเรือในกรุงเทพฯ ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า กทม.สามารถมาร่วมตรวจกับกรมฯ ได้ แต่ไม่ให้อำนาจในการสั่งห้ามหรือสั่งปิด และ (7) การควบคุมจำนวนรถยนต์ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การจำกัดการซื้อรถยนต์ใหม่ที่ได้รับมาตรฐานต่ำกว่ายูโร 5 การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือการนำทะเบียนรถเก่ามาแลกเป็นทะเบียนรถใหม่ เพื่อนำรถเก่าออกจากระบบ หน่วยงานแจ้งว่าไม่มีนโยบาย เพราะรัฐบาลไม่สั่งให้ทำ
นายศุภณัฐ กล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่าข้อเสนอจากผู้ว่า กทม.ถูกหน่วยงานต่างๆ ปัดตกไปเป็นจำนวนมาก เพราะต้องอาศัยการผลักดันจากภาคการเมือง 2 มิติ มิติแรกคือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ไม่เห็นด้วย โดยมักอ้างว่าท้องถิ่นไม่มีความพร้อมที่จะรับการถ่ายโอน ซึ่งการที่ผู้ว่า กทม.ไม่มาเข้าร่วมประชุมกับกรรมาธิการฯ เมื่อวานนี้ เพื่อชี้แจงและยืนยันความพร้อมของ กทม.ในการกระจายอำนาจ ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับคนกรุงเทพฯ ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นล่าช้าออกไปอีก
ส่วนมิติที่สองคือมิติด้านการเงินและภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ ตราบใดที่ฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายลงมา หลายนโยบายเพื่อแก้ฝุ่นจึงยังทำไม่ได้
“ต้องบอกว่า ณ เวลานี้ ทางรัฐบาลและฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่มีใครที่จะคอยนั่งหัวโต๊ะ และเคาะว่านโยบายไหนที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำอย่างไร แต่กลับปล่อยให้หน่วยงานราชการทำกันเองตามยถากรรม ขาดทิศทาง ขาดเป้าหมาย ไม่รู้ว่าต้องลดฝุ่นในภาคอุตสาหกรรม ในภาคการขนส่ง ในภาคการเกษตรเท่าไร อย่างไร ไม่มี Action Plan (แผนปฏิบัติการ) เรียกได้ว่ารัฐบาลกำลังบริหารประเทศ บริหารวิกฤตฝุ่น PM2.5 แบบตามมีตามเกิด ไร้ผู้นำ” นายศุภณัฐ กล่าว
นายศุภณัฐ เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงภาวะความเป็นผู้นำ เรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาประชุม สรุปข้อเสนอจากทุกฝ่าย และออกเป็นนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปขับเคลื่อนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวว่า จากการรับฟังตัวแทนของ กทม.ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ตนมีข้อเสนอถึงผู้ว่า กทม. ใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) มาตรการประกาศเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone: LEZ) ที่ผ่านมา กทม.ใช้ระบบ Green List โดยให้เฉพาะรถบรรทุกที่เข้าเงื่อนไขปล่อยมลพิษต่ำสามารถเดินทางเข้ามายังเขตกรุงเทพฯ ชั้นในได้ ซึ่งแนวคิดตั้งต้นเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฏิบัติ กทม.กลับไม่มีความพร้อมมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการตามสั่งปรับย้อนหลัง แต่ปล่อยให้รถบรรทุกเข้ามาสร้างมลพิษในเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทำเอกสารสั่งปรับใช้เวลานานหลายเดือน ทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้สึกถึงผลกระทบของการฝ่าฝืน และไม่ดำเนินการปรับตัว ตนจึงเสนอให้ กทม.เปลี่ยนมาใช้เงื่อนไขจำกัดเวลาการวิ่งแทน เช่น ให้รถบรรทุกวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในได้เฉพาะเวลา 21:00 - 06:00 น. ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เกิดความสับสนน้อย ผู้ประกอบการปรับตัวได้ และลดฝุ่นได้จริง
(2) มาตรการตรวจจับการปล่อยควันดำ นอกจาก กทม.จะต้องตรวจสอบการปล่อยควันจากโรงงานในสังกัด กทม.เองแล้ว ตนขอเสนอให้ กทม.เชื่อมข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องของโรงงานเอกชนในกรุงเทพฯ ทั้งหมดได้แบบ real-time และดูย้อนหลังได้ด้วย หากทำได้ดังนี้ กทม.ก็จะสามารถเข้าไปตรวจสอบเชิงรุกได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องตั้งรับรอให้ประชาชนมาแจ้งฝ่ายเดียว
(3) มาตรการห้ามเผา ปัจจุบัน กทม.ใช้ข้อมูลจุดความร้อนรายวัน เพื่อหาจุดเผาแบบ real-time แต่ล่าสุดตนทราบมาว่า กทม.จะเริ่มดำเนินการเอาผิดเจ้าของที่ดินที่เกิดการเผาด้วย แทนที่จะไปจับกุมผู้เผาซึ่งทำได้ยากกว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และขอเสนอเพิ่มเติมให้ กทม.เชื่อมข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่เผาไหม้ของ GISTDA ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถตรวจจับพื้นที่เผาย้อนหลังได้
(4) ผู้ว่า กทม.เคยทำหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอแต่งตั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมมลพิษ แต่กรมควบคุมมลพิษแจ้งในที่ประชุมว่าไม่สามารถแต่งตั้งได้ตามความเห็นของกฤษฎีกาในปี 2543 ตนจึงขอให้ผู้ว่า กทม.ส่งหนังสือถึงกฤษฎีกาอีกครั้ง เพื่อทบทวนการตีความดังกล่าว
น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะเห็นได้ว่าหลายมาตรการลดฝุ่น กทม.ไม่สามารถตกลงร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ เพื่อประสานทรัพยากรกันได้ ตนจึงเรียกร้องให้ผู้ว่า กทม.ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขเรื่องขอบเขตอำนาจที่ยังไม่ชัดเจน และแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้จบก่อนที่กรุงเทพฯ จะจมฝุ่นอีกครั้งในปีหน้า