สส.ปชน.หนุนแก้ กม.กลาโหมฯ นับหนึ่งปฏิรูป ให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน
![สส.ปชน.หนุนแก้ กม.กลาโหมฯ นับหนึ่งปฏิรูป ให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2024/12/Qhbwjzyo6GTHcDsAMllQ.webp?x-image-process=style/LG)
'เชตวัน' สส.ปชน. เดินหน้าหนุนดัน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม ให้ 'กองทัพ' อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน มีทั้งฉบับ 'พรรคส้ม-เพื่อไทย' ลั่นเป็นปมแรกที่ต้องแก้เพื่อปฏิรูปกองทัพ
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2567 นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เชตวัน เตือประโคน - Chetawan Thuaprakhon ระบุถึงวาทกรรม “แทรกแซงกองทัพ” และหวังว่าจะไม่ใช่ “เกมการเมือง” โดยระบุว่า ประเทศซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลก “กองทัพ” ก็อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และอาจกล่าวได้ว่านี่คือหมุดหมายที่การปฏิรูปกองทัพของประเทศไทยเรา จะต้องเดินไปให้ถึง ถ้าเชื่อว่าเราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย
"ผมเข้าใจถึงภาพหลอนของใครต่อใคร ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดก็คือเมื่อ 10 ปีที่แล้วนี่เอง ดังนั้น จึงไม่มีใครกล้าการันตีหรอกว่า ในอนาคตจะไม่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเกิดขึ้นอีก แต่ “ภูมิทัศน์ทางการเมือง” ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แตกต่างจากวันนั้นอย่างสิ้นเชิง" นายเชตวัน ระบุ
นายเชตวัน ระบุอีกว่า วันนี้ หลายคนเห็นตรงกันว่า กลไกรัฐสภาสามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ มีคนพร้อมที่จะออกไปต่อต้านหากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีก หรืออย่างสถานการณ์โลกล่าสุด ทุกคนก็ได้เห็นการที่ประชาชนและ สส.เกาหลีใต้ ออกมาปกป้องสิทธิเสียงของตัวเอง ยืนหยัดไม่ยอมรับการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี จึงควรแล้วที่ “รัฐบาล” กับ “สภาผู้แทนราษฎร” ต้องช่วยกันเพื่อยืนหยัดในหลักการ “การควบคุมโดยพลเรือน” หรือ “Civilion Control” สนับสนุนให้มีการแก้ไข “พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม” ที่ตอนนี้พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยได้ยื่นไปแล้ว
โดยสถานะของกฎหมายของพรรคประชาชนนั้น บรรจุในระเบียบวาระการประชุมเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ของพรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คาดว่าทั้ง 2 ฉบับ จะถูกนำมาพิจารณาในวาระแรก คือชั้นรับหลักการ พร้อมๆ กันในช่วงเดือนมกราคม ปีหน้า แน่นอน ระหว่างรอนี้ สิ่งที่ฝ่ายซึ่งอยากเห็นการ “แก้ไข” ต้องเจอจากฝ่ายต่อต้านที่ได้ประโยชน์หรือผสานประโยชน์กับกองทัพ นั่นก็คือ “วาทกรรม” และ “เกมการเมือง” ซึ่งเริ่มได้ยินได้ฟังกันบ้างแล้ว
1.ไม่ว่าจะเป็น วาทกรรมสำเร็จรูปอย่าง “เปิดโอกาสให้การเมืองแทรกแซงกองทัพ” ซึ่งรัฐบาลก็ต้องบริหารราชการแผ่นดิน กองทัพก็เหมือนกับหน่วยราชการอื่น จะผิดแปลกอะไรถ้ามีข้าราชการที่ทำงานไม่ได้ ไม่เป็นไปตามนโยบาย แล้วจะถูกโยกย้ายปรับเปลี่ยน กองทัพจะเป็นหน่วยราชการเดียวที่ห้ามแตะต้อง เขาจะอยู่กันเอง ปกครองกันเอง เป็น “รัฐอิสระ” แบบที่เป็นอยู่ อย่างนั้นเหรอ
2. ไม่ว่าจะเป็น “อาจทำให้กองทัพไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้ยึดอำนาจ” ซึ่งนี่เป็นการตีตนไปก่อนไข้ มองเห็นแต่ภาพหลอนของอดีต จนไม่กล้าแม้แต่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ “ปิดประตูปฏิรูปกองทัพ” ได้เลย
"สำหรับในเกมแห่งอำนาจ ไม่อยากให้นักการเมือง-พรรคการเมืองใช้เรื่องที่สังคมตกผลึกตรงกันแล้วว่าต้อง “ปฏิรูป” มาเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางการเมือง และผมก็ไม่อยากเห็นการใช้เรื่องนี้มาเล่นละคร 2 หน้า คนนั้นอยากแก้ คนนี้ไม่อยากแก้ เป็นต้น พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นเงื่อนปมแรกที่จะต้องแก้ หากต้องการจะ “ปฏิรูปกองทัพ” ให้ทหารเป็นทหารอาชีพ ไม่ยุ่งการเมือง" นายเชตวัน ระบุ