โดนอีก! ป.ป.ช.ฟัน 2 อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ คดีเงินทอนวัด 11 แห่ง 7 ล้าน

โดนอีก! ป.ป.ช.ฟัน 2 อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ คดีเงินทอนวัด 11 แห่ง 7 ล้าน

โดนอีก! ป.ป.ช.ชี้มูลผิด ‘นพรัตน์-พนม’ 2 อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ คดีทุจริต ‘เงินทอนวัด’ 11 แห่ง 3 จังหวัด ‘ปราจีนบุรี-สงขลา-สตูล’ รวมยอด 7 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหา นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.สำนักพุทธฯ) นายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน ทุจริตเงินงบประมาณในโครงการเงินอุดหนุนการปฏิบัติธรรมและครอบครัวอบอุ่นด้วยพระธรรมเฉลิมพระเกียรติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่จัดสรรให้แก่วัดในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และวัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล รวมทั้งหมด 11 วัด

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 คน ได้แก่ (1) นายนพรัตน์ (2) นายพนม (3) นายบุญเลิศ โสภา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา (4) นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ ปฏิบัติราชการส่วนการศึกษาสงเคราะห์ กองพุทธศาสนศึกษา (5) นายทวียศ ใหม่ทุ่ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ กองพุทธศาสนศึกษา (6) นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนสมานคุณวิทยาทาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (7) นางชมพูนุช  จันฤาไชย  (8) พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร มาดำ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสงขลา

สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดสรรและโอนจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนการปฏิบัติธรรมและครอบครัวอบอุ่นด้วยพระธรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้แก่วัดในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1 วัด เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท และในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล รวมจำนวน 10 วัด เป็นเงินจำนวน 6,000,000 บาท รวมเงินทั้งสิ้นจำนวน 7,000,000 บาท 
    
โดยได้จัดสรรให้แก่วัด ดังนี้

  1. วัดกระทุ่มแพ้ว อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท
  2. วัดวังปริง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  3. วัดเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  4. วัดสนามไชย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  5. วัดประดู่หอม อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  6. วัดสามบ่อ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  7. วัดแจ้ง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  8. วัดคงคาสวัสดิ์ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  9. วัดศรีสว่างวงศ์ (เกาะเสือ) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  10. วัดช้างคลอด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท
  11. วัดทุ่งนางแก้ว อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท

โดยก่อนที่จะมีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่วัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลดังกล่าวนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้มาพบกับนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ที่วัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แล้วได้สั่งการให้นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ไปติดต่อจัดหาวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรับจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าว โดยให้แจ้งกับวัดว่า เมื่อ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้โอนเงินให้แล้ว วัดจะต้องคืนเงินบางส่วนกลับมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดโครงการหรือจัดกิจกรรมอื่นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยให้โอนเงินกลับมายังบัญชีเงินฝากของนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ก่อนที่จะคืนเงินกลับไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 

หลังจากนั้น นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ได้ไปดำเนินการติดต่อจัดหาวัด โดยไปติดต่อด้วยตนเองและยังได้ให้พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร มาดำ ช่วยติดต่อจัดหา จึงได้รายชื่อวัดและสำเนาบัญชีเงินฝากของวัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลดังกล่าว ซึ่งในการจัดหาวัดนั้น ได้มีการติดต่อกับเจ้าอาวาสของวัดต่างๆ หลังจากที่ได้รายชื่อและสำเนาบัญชีเงินฝากมาแล้ว นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ได้ส่งไปให้กับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ โดยทางโทรสาร (FAX)

เมื่อนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้รับแล้ว ได้สั่งการให้นายบุญเลิศ โสภา จัดทำบันทึกขออนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าว ให้แก่วัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ทั้ง 10 วัด วัดละ 600,000 บาท พร้อมกับวัดกระทุ่มแพ้ว ซึ่งเป็นวัดในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,000,000 บาท นายบุญเลิศ โสภา ได้ไปสั่งการให้นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี จัดทำบันทึกขออนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าว พร้อมด้วยรายละเอียดการจัดสรรเงินอุดหนุน

หลังจากที่นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี จัดทำบันทึกแล้วเสร็จ ได้นำไปให้นายบุญเลิศ โสภา ลงนาม เพื่อเสนอไปยังนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ พิจารณาอนุมัติ โดยเสนอผ่านนายพนม ศรศิลป์ ต่อมานายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้ลงนามอนุมิติเห็นชอบให้จัดสรรและโอนจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งในการจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าวนั้น ไม่เป็นไปตามโครงการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนที่สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้กำหนดไว้ เป็นการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 5 จึงเป็นการอนุมัติให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนโดยมิชอบ

หลังจากที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้อนุมัติเห็นชอบให้จัดสรรและโอนจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินให้กับวัดต่างๆ ดังกล่าว และเมื่อวัดได้รับเงินแล้ว นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้แจ้งไปยังนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ว่าให้วัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลทั้งหมด โอนเงินกลับมายังบัญชีเงินฝากของ นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล จากนั้นนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ได้ไปดำเนินการให้วัดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ทั้ง 10 วัด โอนเงินกลับมายังบัญชีเงินฝากของตน วัดละ 500,000 บาท ปรากฏว่า วัดวังปริง วัดเขามีเกียรติ วัดสนามชัย วัดประดู่หอม วัดสามบ่อ วัดแจ้ง วัดศรีสว่างวงศ์ (เกาะเสือ) วัดช้างคลอด วัดทุ่งนางแก้ว ได้มีการคืนเงินกลับให้กับนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล วัดละ 500,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือแต่ละวัดได้มีการนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของวัด ส่วนวัดคงคาสวัสดิ์ ไม่ปรากฏว่ามีการคืนเงินกลับแต่อย่างใด และวัดกระทุ่มแพ้ว ได้นำเงินไปใช้จ่ายในการบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ของวัด ไม่ปรากฏว่ามีการคืนเงินกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ใดเช่นกัน

หลังจากที่นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ได้รับเงินมาจากวัดต่างๆ แล้ว ได้คืนกลับไปยัง นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ โดยการซื้อตั๋วแลกเงิน จำนวน 800,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่นายทวียศ ใหม่ทุ่ม แล้วนายทวียศ ใหม่ทุ่ม ได้นำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปเบิกถอนเงิน แล้วได้ซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 700,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่นางชมพูนุท จันฤาไชย ซึ่งเป็นคนสนิทของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ส่วนเงินอีกจำนวน 100,000 บาท นายทวียศ ใหม่ทุ่ม นำไปมอบให้กับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้มีการมารับเงินสดดังกล่าว จากนายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ด้วย ในพื้นที่ตําบลหาดใหญ่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีนายทวียศ ใหม่ทุ่ม ได้เดินทางมาด้วย จากการไต่สวนปรากฏว่า  นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ได้มีการนำเงินดังกล่าวนี้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวด้วย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 

ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1) (4) มาตรา 82 (1) (2) และมาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 85 (7)

การกระทำของ นายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7)

การกระทำของ นายบุญเลิศ โสภา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดทางอาญา แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7)

การกระทำของ นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา

การกระทำของ นายทวียศ ใหม่ทุ่ม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 

มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85 (1) (4) มาตรา 82 (1) (2) และมาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 85 (7) 

การกระทำของ นายพิพัฒน์ เสนาพิทักษ์กุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 

ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91

การกระทำของ นางชมพูนุช จันฤาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 

ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91

การกระทำของ พระครูปลัดธรรมวงศานุวัตร มาดำ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา 

ปัจจุบันส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแล้ว