จำกัดสิทธิเกินเหตุ ศาล ปค.สั่งเพิกถอน 4 ปมใหญ่ระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว.

จำกัดสิทธิเกินเหตุ ศาล ปค.สั่งเพิกถอน 4 ปมใหญ่ระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว.

ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอน 4 ปมใหญ่ ในระเบียบ กกต.แนะนำตัวเลือก สว. ชี้จำกัดสิทธเสรีภาพเกินกว่าเหตุ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไฟเขียวเขียนประวัติเกิน 2 หน้าA4-แนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์-สื่อ พิธีกรแนะนำตัวได้

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 รวม 2 สำนวนที่มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับพวก ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. ดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการออกระเบียบโดยมิชอบ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพ

ล่าสุด ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 ข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค. 2567 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

ศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ สว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ

การที่ระเบียบกกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึง การให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้ เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

สำหรับระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ข้อ 7 ระบุว่า การใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารขนาดไม่เกิน A4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารตามวรรคหนึ่ง จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้ 

ข้อ 8 ระบุว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวตาม ข้อ7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น

ข้อ 11 (2) ระบุว่า นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลบังใช้ไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณี ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว