ป.ป.ช.ถกหอการค้า ตปท.ปราบโกง ประเมินการเมืองไทย ลงทุนต้องจ่ายค่าน้ำชา

ป.ป.ช.ถกหอการค้า ตปท.ปราบโกง ประเมินการเมืองไทย ลงทุนต้องจ่ายค่าน้ำชา

ป.ป.ช.ถกหอการค้าต่างชาติ เสวนาปราบโกง อึ้งข้อมูลทั่วโลก ติดสินบนสร้างความเสียหาย 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้าน ปธ.หอการค้า ตปท.มองเสถียรภาพการเมืองไทยมีทั้งประท้วง-รัฐประหาร ทำธุรกิจต้องใช้ค่าน้ำร้อน น้ำชา กระทบต่างชาติตัดสินใจลงทุน

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมสวิสโซเทล กทม. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย พร้อมจัดเสวนา หัวข้อ "การต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนและบทบาทของภาคเอกชนไทย" โดยนายนิติพันธุ์  ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการ ป.ป ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า การคอรัปชัน ติดสินบนพนักงานของรัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ world economic forum ก็ประมาณการตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5% ของ GDP โลก สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 

ในส่วนของไทย ป.ป.ช.ได้ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ และทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องออกมาตรการส่งเสริมและป้องกันการทุจริต ส่งเสริมคุณธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงความรับผิดทางอาญากรณีการทุจริตทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศรวมถึงนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทุจริต และให้สัญญาเป็นโมฆะ สัมปทาน ทั้งนี้ ป.ป.ช.พยายามแก้ไขกฎหมายให้สามารถเอาผิดซ้ำใน 2 ประเทศอีกด้วย ขณะนี้ไทยมุ่งหวังจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการติดสินบน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 44 ประเทศ 

นางวีเบกเกอ เลอเซนด์  เลอแวก (Mrs.Vibeke Lyssand Leivag ) ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าต่างประเทศฯ ทำงานในประเทศไทยมา 48 ปีแล้ว มีสมาชิก 36 บริษัท มีเครือข่าย 8,000-9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เติบโตและยังมีโอกาสในการลงทุนมากมาย และประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้ และมีมาตรการจูงใจการลงทุนจำนวนมาก แต่โอกาสก็มาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจ และระบบราชการไทยที่ซับซ้อน เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งที่ผ่านมาจะมีการประท้วง มีการรัฐประหาร ที่จริงรัฐบาลปัจจุบันให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการปรับปรุงระบบการศึกษา อัพสกิล เพิ่มทักษะการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆนวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ 

"เหตุผลที่กล่าวมาเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงไม่น้อย ซึ่งจะเห็นว่า ดัชนี การทุจริตไม่ได้มีการพัฒนาขึ้น จากปี 2018  ก็ตกลงจากอันดับที่ 99 มาอยู่ที่ลำดับ 108 ซึ่งจะเห็นว่า การทุจริตคอรัปชั่นทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ เกิดความไม่ยุติธรรมหากไม่มีการจ่ายค่าน้ำชา ดังนั้นเราอยากมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการจะต้องทำงานร่วมกัน" ประธานหอการค้าต่างประเทศฯ กล่าว 

ดร.กุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ถ้าบริษัทมีกรรมการที่ดีเราก็สามารถลดการติดสินบนและการทุจริตลงได้ทั้งในบริษัทและนอกบริษัท รวมถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2010 ก็เพื่อป้องกันการคอรัปชั่นโดยสมัครใจ มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริต อิงตามมาตรฐานนานาชาติ ทำการอบรมการวิเคราะห์และควบคุมลดปัญหาการทุจริตภายในองค์กรของตัวเอง และยังมีโปรแกรมผู้นำจริยธรรมที่พยายามจะช่วยผู้บริหารให้ตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ได้

ส่วนนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัยชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า การสร้างคุณธรรมและค่านิยมต่อเยาวชนไทยในการต่อต้านการทุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโอกาสการทุจริตในประเทศไทยลงได้ รวมถึงร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ การสนับสนุนการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น